วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

การดูแลตัวเองหลังคลอด

การดูแลตัวเองหลังคลอด
                    หลังจากที่เราแม่ ๆ ดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อยในทางที่สมบูรณ์มากกก มา 9 เดือน พอหลังคลอด เราแม่ ๆ ก็คงรู้สึกกันแล้วว่า ร่างกายชั้นเป็นอะไรไปเนี่ยมันบวมพองป่องไปหมด ใครที่ดูแลตัวเองด้านอาหารการกินมาโดยตลอด จะเถียงแม่กุ๊กไม่ได้แหละคร่า ว่าหน้าท้อง นั่นคือปัญหา  นอกจากนี้เราคนไทยเรายังสนใจเรื่องการอยู่ไฟเพื่อสุขภาพ ตัวแม่กุ๊กอยู่อิตาลี่ เรื่องอยู่ไฟนี่ไปบอกใครเค้าก็หัวเราะ แต่เรื่องหน้าท้องแทบจับเข่าคุยกัน คุณแม่ที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้เข็มขัดรัดหน้าท้อง คล้าย ๆ เสตย์บ้านเราน่ะคะ ใส่ยาวเลย  แล้วก็ออกกำลังกายกันอย่างสม่ำเสมอ  เลือกทานอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นมลูก เพื่อน ๆ คุณแม่ที่ไปเข้าคอร์สคุณแม่ด้วยกัน แค่สองสามเดือนให้หลัง ก็กลับมาเช๊งกะเด๊ะกันหมดแล้ว  ส่วนแม่กุ๊กนับไม่ได้ เพราะดั๊นท้องต่อเลย ก็เลยมาลดเอาหลังท้องสอง แต่จตะบอกว่าความคืบหน้าค่อนข้างน้อย น้ำหนักน่ะลด แต่หน้าท้องนี่สิคะ ยังไม่เท่าไหร่เลย ไม่อยากบอกว่าไม่มีเวลา เพราะแม่กุ๊กคิดว่าตัวเองไม่มีความตั้งใจพอมากกว่า ส่วนเรื่องอยู่ไฟนี่ลงทุนสั่งทางไกลจากเมืองไทยเลยนะคะ ที่นี่เลยค่ะ http://www.kumsamunpai.com/  ของเค้าโอเคมาก สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบไม่ยากนักน่ะค่ะ แม่กุ๊กซื้อมาสำหรับ 1 เดือนแต่ทำได้แค่อาทิตย์เดียวค่ะ เพราะคุณสามีโดนเรียกตัวกลับไปทำงานด่วน ดังนั้นจึงไม่มีใครคอยดูลูกให้ ตอนกลางคืนแม่กุ๊กก็เหนื่อยซะจนไม่มีแรงจะพทำแล้วล่ะค่ะ ไล่มาซะยาว ไปแอบหาบทความดี ๆ มาให้คุณแม่ ๆ ทั้งหลายอ่านดีกว่า


                   การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอดลูก แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดลูกอีกด้วย คือคลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดลูก และยังมีปัจจัยส่วนบุคคลอื่นๆ อีกที่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการดังนี้

  • มีน้ำคาวปลาสีแดงสด และค่อยๆ จางลงในปลายสัปดาห์และจะหมดไปภายใน 3 สัปดาห์ หรืออาจจะมีกระปริบกระปรอยเล็กน้อยจนครบ 6 สัปดาห์ หากน้ำคาวปลายังเป็นสีแดงสดนานเกิน 1 สัปดาห์ควรให้แพทย์ตรวจอีกครั้ง
  • อาจมีการปวดมดลูกเป็นพักๆ เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อคืนสู่สภาพเดิมของมดลูก (เข้าอู่) จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อให้นมลูก เนื่องจากเมื่อลูกดูดนมจะมีการสร้างสารออกซิโทซินเพิ่มมากขึ้นในเลือดของแม่ หากปวดมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาแก้ปวดได้ อาการนี้จะหมดไปเองภายใน 4-7 วันหลังคลอด หากมีการปวดนานเกิน 7 วันควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในมดลูกทำให้โพรงมดลูกอักเสบได้
  • ความเหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย
  • ปวดบริเวณเย็บฝีเย็บ ในช่วงพักฟื้น พยาบาลจะดูแผลฝีเย็บทุกวัน ให้คำแนะนำในการทำความสะอาดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พยาบาลจะแนะนำให้ใส่ผ้าอนามัย และเปลี่ยนทุก 4-6 ชั่วโมง ล้างทุกครั้งหลังปัสสาวะ อุจจาระ โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่แพทย์แนะนำ (แต่โดยปกติจะไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ) เช็ดให้แห้งโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ใช้มือจับฝีเย็บจนกว่าจะตัดไหม
  • เจ็บแผลหน้าท้อง (กรณีใช้วิธีผ่าตัดคลอดลูก)
  • เคลื่อนไหวร่างกายยังไม่สะดวก อาจจะรู้สึกลำบากและไม่คล่องตัว
  • ถ่ายปัสสาวะไม่สะดวก โดยเฉพาะวันแรก อาจจะท้องผูก
  • รู้สึกปวดเมื่อยทั้งตัว
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะ 2 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากร่างกายจะขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย อาการนี้จะอยู่นานเป็นสัปดาห์เพื่อปรับร่างกายเข้าสู่สภาพปกติ ดังนั้นควรจะอาบน้ำบ่อยขึ้นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ ได้ แต่ถ้าไข้สูงเกิน 38 องศาควรปรึกษาแพทย์
  • เต้านมตึง อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลกรณีที่ลูกดูดนมแรงเกินไป
  • อารมณ์แปรปรวน เดี่ยวเศร้าซึม เดี่ยวตื่นเต้น อ่อนไหวง่าย
  • มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือบางรายอาจจะลดลง

อาการหลังคลอดที่ควรระวัง และต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน หากมีอาการเหล่านี้

  • มีเลือดออกมาทางช่องคลอดจนชุ่มผ้าอนามัย 1 ผืนภายใน 1 ชั่วโมง ควรรีบไปโรงพยาบาล และใช้น้ำแข็งวางบนหน้าท้องหรือมดลูกเพื่อให้เลือดออกมาน้อยลง
  • น้ำคาวปลามีสีแดงสดนานเกิน 4 วัน
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งปกติแล้วกลิ่นจะเหมือนเลือดประจำเดือน
  • มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกทางช่องคลอด ซึ่งปกติแล้วอาจจะมีเพียงลิ่มเลือดเล็กๆ ออกมาปนกับน้ำคาวปลา
  • น้ำคาวปลาไม่ไหล โดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดรำคาญในระยะ 1 สัปดาห์หลังคลอด
  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเกิน 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะหลังคลอดวันแรก
  • เจ็บหน้าอก ซึ่งอาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดเล็กๆ ในปอด
  • การปวดบวมของขาและน่อง อาจเกิดจากมีหลอดเลือดอุดตันบริเวณนั้น
  • อาการปวด บวม ของเต้านมบางส่วน แม้ว่าอาการตึงคัดจะหายไปแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมบางส่วนทำให้เกิดการอักเสบของเต้านม
  • มีอาการบวมแดงของแผลผ่าตัด เป็นหนอง มีน้ำเหลืองไหลซึม
  • ปัสสาวะแล้วแสบหรือรู้สึกขัด ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยลง และสีเข้มจัด
  • มีอาการซึมเศร้าเกิน 2-3 วัน และมีอารมณ์โกรธร่วมด้วย
เครดิตโดย 
http://www.babytrick.com/new-born-baby-tip/take-care-your-self-after-birth.html

การอยู่ไฟ


         ตั้งแต่ยุคโบราณนานมา ผู้เฒ่าผู้แก่มักให้หญิงที่เพิ่งคลอดอยู่ไฟและสืบทอดต่อกันมา ทุกวันนี้การอยู่ไฟหลังคลอดกลับมาเป็นที่นิยมของคุณแม่หลังคลอดอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดมีทรวดทรงองค์เอว ผิวพรรณหน้าตาสดใสเหมือนก่อนตั้งครรภ์

โรงพญาบาลกล้วยน้ำไท 1 เปิดประเด็น ม่ามี๊ ก็ผิวใสและเซ็กซี่ น็อตตี้ ได้ด้วยการอยู่ไฟ ให้กระจ่างชัดไปเลยว่าอยู่ไฟมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร โดยน.พ.ก้องศาสดิ์ ดีนิรันดร์ สูติ-นรีแพทย์ กล่าวว่าน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 ก.ก. ผิวคล้ำขึ้น มีสีเข้มคาดที่กลางลำตัว หน้าท้องแตกลายเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสะสม หลังคลอดแล้วน้ำหนักจะลดลงทันทีประมาณ 5.5 ก.ก. แต่ยังคงมีน้ำหนักตัวหลงเหลืออยู่ จากนั้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ มดลูกจะกลับมาเหมือนภาวะปกติร้อยละ 70 หรือเรียกกันว่า มดลูกเข้าอู่

แม้จะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่ก็มีความรู้เรื่องการอยู่ไฟด้วย คุณหมอบอกว่าการประคบทำให้คลายเมื่อย คลายเครียดเพราะขณะอยู่ไฟไม่ได้เลี้ยงลูก อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดสูบฉีดดีขึ้นซึ่งเกิดจากความร้อนจากการอบตัวในกระโจมเหมือนอบเซาน่าในปัจจุบัน


ส่วนการขัดผิวเป็นการลอกเซลล์ผิวที่คล้ำออกแล้วเซลล์ผิวที่ใสและสะอาดที่สุดซึ่งอยู่ชั้นล่างก็จะโตเร็วขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดเลือดที่ดี อีกทั้งช่วยให้น้ำคาวปลาออกหมดเร็ว การปัสสาวะและอุจจาระก็พลอยดีขึ้นไปด้วย


อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟมีข้อเสียเหมือนกัน

หากคลอดปกติทางช่องคลอดต้องรอให้แผลฝีเย็บละลายเสียก่อนซึ่งมักจะใช้เวลา 7-10 วัน แต่กรณีคลอดแบบผ่าตัดต้องรอให้แผลหายดีเสียก่อนสักประมาณ 45 วัน และคุณแม่ยังต้องคำนึงถึงโรคประจำตัวด้วย เช่น บางคนเป็นโรคเบาหวาน หากมีแผลที่เท้าและชาเท้าขณะนวดหรืออบไฟก็อาจไม่รู้ตัวและทำให้แผลลามขึ้นได้ ส่วนคนเป็นความดันก็ต้องระวังเพราะขณะนวดความดันจะเพิ่มขึ้น และคนที่เป็นโรคหัวใจก็ควรระวังด้วย
มาคุยกับแพทย์แผนไทยประยุกต์กันบ้าง น.ส.กมลมาสย์ หลวงแสน กล่าวถึงขั้นตอนการอยู่ไฟว่า

• ขั้นแรกคุณแม่ต้องดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพร แล้วอาบน้ำสมุนไพร สำหรับสมุนไพรที่ใช้อาบและอบตัวนั้น ประกอบด้วย ไพล ขมิ้นชันที่มีสรรพคุณแก้ฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย ตะไคร้และมะกรูดช่วยระบบทางเดินหายใจและดับกลิ่นน้ำคาวปลา ผักบุ้งแดงช่วยบำรุงสายตา ใบมะขามและใบส้มป่อยช่วยบำรุงน้ำเหลือง นอกจากนั้นก็มีการบูร พิมเสน เกลือ ว่านน้ำ

• จากนั้นนวดประคบโดยใช้ลูกประคบซึ่งใช้สมุนไพรสดเหมือนกับสมุนไพรที่ใช้อาบน้ำ แล้วมาทับหม้อเกลือซึ่งมีว่านชักมดลูกและว่านนางคำช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและขับน้ำคาวปลา ประกอบกับใช้หม้ออินทนนท์ซึ่งใส่เกลือตัวผู้เม็ดใหญ่ๆ ลงไปและอบในไมโครเวฟให้ร้อนแล้วใช้ใบพลับพลึงวางซ้อนกันก่อนวางหม้อบนหน้าท้องเป็นการขับน้ำคาวปลาและลดการเกร็งของหน้าท้อง

• หลังจากนั้น เป็นการนวดน้ำมัน ขัดผิวและอยู่กระโจมโดยเข้าไปอบตัวในกระโจม 10 นาที ออกมาพัก และเข้าไปใหม่ รวม 3 ครั้ง อาจทำทุกวันก็ได้เรื่อยไปจนกระทั่ง 1 เดือน


นอกจากนี้ ยังมีที่คาดไฟชุดหรือคาดไฟหลวง ประกอบด้วยกล่องอะลูมิเนียม แท่งยาซึ่งเป็นแท่งถ่านและผ้าคาดเอว จุดไฟครั้งหนึ่งก็จะร้อนนานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยให้วางผ้าขนหนูรอบเอวเสียก่อนแล้วค่อยใส่ผ้าคาดเอวซึ่งจะทำวันละ 2-3 ครั้งก็ได้ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานบ้านหรือไม่ค่อยมีเวลา ไม่สะดวกในการอยู่กระโจมหรือประคบ


เหตุใดราคาคอร์สอยู่ไฟถึงแพงมาก บางคอร์สเกือบหมื่น บางคอร์สหลายหมื่น พยาบาลชวนพิศ ยงยิ่งยืน ไขข้อสงสัยว่าเป็นเพราะราคาสมุนไพรที่แพงตามฤดูกาลและหายาก และยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 5 ชั่วโมงของการอยู่ไฟต่อหนึ่งวัน อีกทั้งน้ำมันนวดราคาแพง


ส่วนคุณแม่ลูก 4 ที่มีประสบการณ์อยู่ไฟอย่างโชกโชน นางอัจรียา อีดี้ ยืนยันว่าการอยู่ไฟดีต่อสุขภาพคุณแม่หลังคลอด ช่วยให้คลายปวดเมื่อยและไม่เคยมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวเลย พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับเพื่อช่วยให้คุณแม่กลับมาสดใสในเวลาเร็ววันว่ามีหลัก แขม่ว ขมิบ และเขย่ง โดยยกแขนขึ้นและลงพร้อมกับขมิบและเขย่งไปพร้อมกัน


ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างวิถีไทยและความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่ช่วยให้คุณแม่ดูดีขึ้นได้อย่างใจในเวลาไม่นาน


วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การคลอด 2 เลือกวิธีการคลอด

  วิธีการคลอด
                  สมัยนี้อะไร ๆ ก็สะดวกสบาย จะคลอดลูกยังเลือกได้ อะไรจะวิเศษไปกว่านี้  สมัยก่อนน่ะเหรอ โหนผ้าที่ผูกขื่อบ้าน เจ็บก็ต้องทน เดี่ยวนี้มีทั้งยาช่วยระงับความเจ็บ มีทู๊กกอย่าง วันนี้แม่กุ๊กก็เลยไปหาวิธีคลอดลูกแบบต่าง ๆ มาให้ว่าที่คุณแม่ ๆ ทั้งหลาย ได้ศึกษาหาวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองและทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเเพทย์นะคะ




วิธีการคลอดลูก

การคลอดในโรงพยาบาลมีข้อดีตรงที่เป็นศูนย์รวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย คุณแม่มีทางเลือกมากมายใน การลดความเจ็บปวด และถ้าจำเป็นคุณแม่ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดคลอดได้ทันที พร้อมยังได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในกรณีฉุกเฉิน คุณแม่สามารถปรึกษาสูติแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการคลอดและการดูแลในขณะคลอดได้ตามที่คุณแม่ต้องการ และหากมีเรื่องใดที่คุณไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงหรือไม่หรือสิ่งไหนที่คุณไม่ต้องการควรแจ้งให้แพทย์ได้ทราบเพื่อปรึกษาและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการคลอด  และควรบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในแผนการคลอดของคุณ นอกจากนี้ต้องแน่ใจว่าคนรักของคุณหรือคนคนที่จะเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนในห้องคลอดได้ทราบถึงการตัดสินใจนี้ด้วย


การคลอดธรรมชาติ

 สำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง การคลอดธรรมชาติ จะเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณและลูกน้อย สูติแพทย์จะตรวจดูช่วงใกล้ถึงกำหนดคลอดว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าศีรษะลงสู่เชิงกรานหรือไม่ การคลอดธรรมชาติ นั้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บครรภ์อย่างมากซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ความอดทนให้มากที่สุดและพยายามอย่าใช้ยาเร่งคลอดควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะอาการเจ็บแสดงถึงการคลอดที่กำลังดำเนินต่อไป สูติแพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดเข้าทางเส้นเลือดหรือการฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้คุณได้
 ** แอบบอกว่า วิธีระงับความเจ็บที่ดีที่สุด คือ ฝึกกำหนดลมหายใจค่ะ อันนี้แม่กุ๊กใช้มาแล้ว การสูดลมหายใจลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมาจะทำให้รู้สึกเจ็บน้อยมาก แต่ต้องค่อย ๆ นะคะ ถ้าหายใจเร็วและแรงเกินไปทำให้เกิดอาการเหน็บชา เพราะออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ แล้วยังทำให้รู้สึกเหมือนจะตายอีกด้วย เข้าใจว่าวินาทีนั้น ไม่มีอารมณ์จะค่อย ๆ แต่เราต้องมีสติที่ดี ค่ะ เดี๋ยวนี้มีสอน
วิธีหายใจตามคอร์สเตรียมคลอดทั่วไป มีประโยชน์มากเลยนะคะ
















การผ่าตัดคลอด


คุณแม่บางท่านสูติแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดคลอดเนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว มีบุตรเมื่ออายุมาก หรือศีรษะทารกไม่หันสู่เชิงกรานเมื่อครบกำหนดคลอด หรือคุณแม่บางท่านเชื่อในดวงหรือเวลาเกิดจึงดูฤกษ์เพื่อทำการผ่าตัดคลอด ด้วยความเชื่อที่ว่าลูกน้อยจะแข็งแรงและมีความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต แต่การผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เสียเลือดมากกว่าการคลอดโดยธรรมชาติถึง 2 เท่า และจะเจ็บแผลนานกว่า แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น


ปัจจุบันเพื่อลดความเจ็บปวดและทำการผ่าตัดได้อย่างได้ผล สูติแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ดมยาสลบหรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง โดยคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด แต่การดมยาสลบคุณแม่จะไม่มีส่วนร่วมในการคลอด ไม่สามารถเห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอด เพราะจะหลับไม่รู้ตัวและฟื้นตัวอีกทีหลังคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่จึงไม่เลือกวิธีนี้อีกทั้งยาสลบอาจมีผลต่อลูกได้ เช่น ลูกคลอดแล้วไม่ร้อง ไม่ค่อยหายใจ เพราะเขาได้รับยาสลบเข้าไปด้วย ส่วนการฉีดยาเข้าไขสันหลังหรือบล็อกหลังนั้น ลูกน้อยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดเพราะไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพียงแต่จะทำให้ส่วนล่างชาไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ทุกอย่างพร้อมทั้งได้ยินเสียงลูกและได้เห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอดออกมา ทั้งนี้ การผ่าตัดคลอด คุณแม่จะเจ็บแผลนานกว่าและมากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ




การคลอดในน้ำ


การคลอดอีกวิธีหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศก็คือ การคลอดในน้ำ  เพราะช่วยลดความเจ็บปวดในการคลอดแต่ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากคุณแม่หลายท่านกังวลในความปลอดภัยทั้งของตนเองและลูกน้อย  อีกทั้งการคลอดด้วยวิธีนี้สุขภาพของคุณแม่ต้องแข็งแรงไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เพราะการคลอดในน้ำจะไม่ใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจลูก  แต่จริง ๆ แล้ว การคลอดในน้ำ ก็ไม่น่ากังวลอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ หากคุณแม่มีความพร้อมและมีสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรงสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็พร้อมจะช่วยดูแลคุณอย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้ปวดหรือฉีดยาใด ๆ  และเมื่อศีรษะของทารกพ้นจากช่องคลอดของแม่แล้ว ก็สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำช่วยรองรับแรงกระแทก ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย รวมถึงคุณแม่เองก็จะรู้สึกเบาสบายไม่เจ็บอีกด้วย




นอกจากนี้ยังมีอีกมากมาย เช่น คลอดไร้ความเจ็บ คลอดที่บ้านและอีกหลาย ๆ อย่าง แต่โดยทั่วไปแล้วหลัก ๆ ก็จะเลือกอยู่สามวิธีข้างต้น  วิธีการคลอดในน้ำนี่แม่กุ๊กอยากลองมาก แต่ตอนที่ท้อง รพ ที่มีวิธีนี้อยู่ไกลบ้าน เลยอด และไม่คิดจะคลอดอีกแล้วค่ะ สองคนพอแล้ว ใครมีโอกาสคลอดวิธีไหนมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ


*เครดิตโดย  http://www.n3k.in.th

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

การคลอด 1

การคลอด
         บทความที่แล้วแม่กุ๊กเล่าไปซะเยอะ เรื่องประสบการณ์ตัวเอง อันที่จริงเทียบกับหลาย ๆ คนแล้ว ถือว่าแม่กุ๊กโชคดีมาก ๆ ในการคลอดลูก  เคยมีคนพูดไว้ว่า วันเกิดของลูกเปรียบเหมือนวันตายของแม่ แม่กุ๊กเคยคิดว่าโอเว่อร์ แต่สองครั้งจากประสบการณ์แม่กุ๊กเองก็เห็นว่าจริงอย่างที่สุด  วันนี้เลยชวนว่าที่คุณแม่ ๆ ทั้งหลายมาคุยเรื่องการคลอด
        สมัยโบราณการคลอดมีความเสี่ยงชนิด 50 : 50 กันเลยทีเดียว คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ทำมาแต่ปางก่อน สมัยโลกไซเบอร์คุณแม่ไฮเทคอย่างเรา ๆ นี่ ความน่ากลัวมันลดน้อยลงไปเยอะ มีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยชีวิตของแม่และลูก  ดังนั้นไม่ต้องกลัวกันไปเกินเหตุนะคะ   ตอนแม่กุ๊กกลัวก็คิดในแง่บวกว่า เค้าคลอดกันทั้งโลก สมัยนี้ตายเพราะคลอดแทบไม่มีเลย ชิลล์ ๆ เป็นคุณแม่ต้องอารมณ์ดีและคิดบวกนะคร๊าาา
         แต่อย่านิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะถึงแม้จะมีคุณหมอและเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ แต่เราก็ไปหาคุณหมอแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น อีก 29 -30 วัน ที่เหลือก็คุณแม่และคนใกล้ชิดนะคะที่จะต้องดูแลเจ้าตัวน้อยๆ และตัวคุณแม่เองให้เเข็งเเรงนะจ๊ะ  จะได้พร้อมสำหรับการคลอด
         ไปหาบทความดี ๆ มาฝากจ้า 

          ก่อนอื่นต้องเริ่มตั้งต้นที่ความเข้าใจที่ว่า การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นความเสี่ยงของมารดาและบุตร ทุกการตั้งครรภ์แบ่งเป็นครรภ์เสี่ยงต่ำและครรภ์เสี่ยงสูง โดยครรภ์เสี่ยงต่ำสามารถเปลี่ยนเป็นครรภ์เสี่ยงสูงได้ตลอดเวลา การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ร่างกายสตรีมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในด้านร่างกายและอารมณ์


ระยะแรกเมื่อมีการตั้งครรภ์ความเสี่ยงที่มี ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีตัวเด็กหรือท้องลม การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์แฝด อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด ปวดหน่วงท้อง ปวดบริเวณต้นขา ขาหนีบ และหลัง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ง่วงนอน คล้ายคนขี้เกียจ เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญ ในกรณีนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ คุณแม่ต้องตะหนักรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ การจดจำประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อจะทำให้การวินิจฉัยอายุของการตั้งครรภ์สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำจะทำให้การวางแผนการดูแลครรภ์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ การเอาใจใส่และแจ้งให้ครอบครัวทราบเพื่อร่วมระมัดระวังในการดูแลครรภ์ ใส่ใจในเรื่องอาหารการกิน การใช้ยาระหว่างการตั้งครรภ์ น้ำหนักลด อาการผิดปกติที่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกจากช่องคลอด มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งข้อมูลการดูแลตนเองระหว่างการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่สามารถสอบถามแพทย์ที่ดูแลครรภ์เมื่อเริ่มฝากครรภ์หรือจะศึกษาความรู้ด้วยตนเองก่อนโดยเมื่อสงสัยในข้อมูลใดแล้วจึงสอบถามแพทย์อีกครั้งก็ได้ โดยทั่วไปแนะนำให้คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ทันที เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อกระบวนการในการร่วมกันดูแลรักษาจะได้เริ่มตั้งแต่ต้น เพราะหากแพทย์วิเคราะห์พบว่ามีครรภ์เสี่ยงสูง จะได้แนะนำรายละเอียดการดูแลต่อไป ความเสี่ยงที่ในระยะนี้ที่พบ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก การแท้ง หากแพทย์สงสัยว่าจะมีความเสี่ยงเหล่านี้ จะอธิบายแนวทางการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ในสมัยก่อน ภาวะเหล่านี้มักจะวินิจฉัยได้ล่าช้า มารดามักมาด้วยอาการของตกเลือดหรือสงสัยการแท้งก่อน คือ ปวดท้องน้อยมาก มีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีเลือดออกมาก จะทำให้มารดาตกเลือดเสียชีวิตได้  ในกรณีครรภ์แฝด คุณแม่ส่วนใหญ่มักชอบที่ได้ตั้งครรภ์แฝด แต่ในความเป็นจริงเป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่ในระยะแรกอาจพบ การแท้ง การเสียชีวิตของทารกในครรภ์คนใดคนหนึ่ง ภาวะแฝดติดกัน ซึ่งครรภ์แฝดเป็นภาวะที่แพทย์ผู้ดูแลต้องวิตกกังวลมากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด


เมื่อการตั้งครรภ์มีอายุครรภ์มากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แก่ การเจริญเติบโตช้าของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การมีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องอาศัยการเอาใจใส่ของคุณแม่และครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ของการดูแลครรภ์อยู่ที่บ้าน  การที่ผลการตั้งครรภ์จะดีจึงต้องได้รับความร่วมมือจากคุณแม่และครอบครัวในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนและรีบมาปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลบางแห่ง เช่น ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีสายด่วนคุณแม่ให้สามารถปรึกษาเรื่องครรภ์และการคลอดตลอด24 ชั่วโมงเพื่อเป็นการเพิ่มชั่วโมงในการให้คำปรึกษาและดูแลครรภ์ สำหรับการตรวจครรภ์ตามระยะนัดของการฝากครรภ์นั้น เป็นเพียงการคัดกรองความผิดปกติที่ตรวจพบขณะมาฝากครรภ์เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณแม่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายที่ยังไม่นับรวมความเสี่ยงของการคลอดที่สูงกว่าความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เพราะหากมีการคลอดที่ผิดปกติ เนิ่นนาน ติดขัด ตกเลือดหลังคลอด มดลูกแตก ก็เป็นเหตุให้เกิดมารดาเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกันกับทารกอาจบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน


การตั้งครรภ์และการคลอดของคุณแม่จึงเปรียบเสมือนการออกสู่สนามรบที่มีความเสี่ยง การเกิดของลูกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและมารดาปลอดภัยเป็นความหวังของทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแล หากลูกสักคนคิดจะฉลองวันเกิด ควรนึกถึงบุญคุณและความเสี่ยงของคุณแม่เสมอ เพราะวันเกิดของลูกนั้นเป็นวันเสี่ยงตายของคุณแม่

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะรู้ได้ไงว่าไกล้คลอด (อาการเตือนก่อนคลอด)

          ประสบการณ์ใกล้คลอดท้องแรกค่อนข้างจะวุ่นวาย เพราะเจ้าพี่มัทเทีย หมอกำหนดคลอดประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน แต่พอ 7 มิถุนายน 2010 แม่กุ๊กก็มีอาการเจ็บท้องคลอด รอ ร๊อ รอ จนเจ็บทุก 5 นาที ก็ไปโรงพยาบาล หมอก็เอาที่คาดมาวัดระดับการเจ็บถี่ ปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย นอน รพ เตรียมคลอดทันที (ว๊าว ๆ ถึงจะก่อนกำหนด แต่เราจะได้เห็นกันแล้วนะเจ้าลูกชาย)  จากนั้นก็นอนคาดเจ้าเครื่องวัดการบีบรัดมดลูกรอ ปากมดลูกเปิดครบ 10 ซม แล้วจะได้เข้าห้องคลอด จำได้ว่าเข้า รพ ตอน 23.00 วันที่ 7 มิย อยู่จนวันที่ 9 มิย ปากมดลูกเพิ่งเปิดได้ 3 ซม อาการที่เคยเจ็บถี่ก็หายไปซะเฉย ๆ หลังจากให้แม่กุ๊กทรมานมากว่า 2 วัน เพราะไม่ใช่เจ็บท้องที่ทรมาน แต่ปวดหลังนี่สุดยอด หมอบอกว่าเพราะกระดูกเชิงกรานกำลังเตรียมพร้อม โอว แม่เจ้า ทุกคอร์สที่แม่กุ๊กไปเรียนมาทั้งฟรีและเสียตัง (โยคะคุณแม่ตั้งครรภ์,คอร์สเตรียมคลอด) ช่วยอารายช๊ายไม่ได้เล๊ยยย  มันลืมหมดเลย T_T  แล้วในระหว่างวันเห็นคนอื่นเค้ามาแป๊บเดียวคลอดแล้ว เห็นเด็กมากมาย คิดน้อยใจว่าทำไมไม่คลอดซะทีน๊า จนวันที่ 9 มิย อาการเจ็บทั้งปวงก็หายไปหมด แต่เจ้ามัทเทียก็ยังดุ๊กดิ๊กอยู่ในท้องแม่ ถึงตอนนี้ร้องไห้หนักกว่าตอนเจ็บท้องกับปวดหลังอีก มันเหมือนเราหวังไว้ว่าจะได้กลับบ้านกับลูก และแล้วคุณหมอเลยบอกให้กลับบ้าน จากวันที่เก้า เราก็รอ รี๊อ รอ ไม่มีอาการอะไรอีกเลย จนตีสามวันที่ 29 มิย ปวดท้องคลอด เจ็บถี่ทันทีทุก 5 นาทีก็ยังไม่ไป รพ กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย  กว่าจะตัดสินใจไป ก็ ตีสี่ พอถึง รพ เจ็บทุกสองนาทีแล้ว เดินไปแผนกต้อนรับยังจะไม่ไหวเลย เดินสองก้าว หยุด อยู่อย่างนั้น รู้สึกว่ามันไกลแสนไกล พอ 7 โมงเช้า ปากมดลูกก็เปิด 10 ซม คราวนี้ล่ะคลอดแน่ 555 หมอก็เจาะน้ำคร่ำ ที่ห้องตรวจเลย แต่จากห้องตรวจไปห้องคลอดต้องเดินอีกประมาณ 1 1 กิโล หมอบอกว่าเดินเถอะนะ จะได้แรงโน้มถ่วงโลกช่วย เดี๋ยวจะได้เบ่งง่าย ๆ คอยดู ค่ะหมอ รับคำอย่างมีความหวัง ปรากฏว่าแต่ละก้าวช่างทรมาน กว่าจะถึงห้องคลอด แล้วหมอที่นี่ก็ใจเด็ด ไม่ช่วยเล้ย พยายามให้ทำเอง เข้าใจในความปรารถนาดี แต่มันดูไม่มีน้ำใจ ที่เดินนำเราไป แล้วหันกลับมาท้าวสะเอวมองเป็นระยะ ๆ ว่า หล่อน แค่นี้ทำไมเดินช้านักยะ (ถ้าถามมาละก็ แม่จะสวนให้ 555 คนมันกำลังเครียด) พอถึงห้องคลอด ก็เริ่มเบ่ง เราบอกว่ายังไม่มีลมเบ่งและไม่รู้สึกอยากเบ่ง เค้าก็พยายามให้เราเบ่งอยู่นั่นแหละ พอเบ่งมั่ว ๆ ก็ดุเอาอีก ก็คนบอกว่ายังไม่อยากเบ่ง เหมือนเราไม่ปวดอึ จะมาแกล้งปวดอึมันไม่ด๊ายย คุณหมอ จากนั้นก็เริ่มความกดดันเพื่อให้เราอยากเบ่งขึ้นเรื่อย ๆ จำได้ นังคุณพยาบาลคนหนึ่งตะโกนใส่หูมาว่า ไอ้ที่จะออกมาน่ะ มันหัวเด็กนะ ไม่ใช่เม็ดถั่ว เบ่งแค่นี้ เม็ดถั่วมันยังไม่ออกให้เลย โอ๊ย ได้ยินแล้วแค้น ไซโคซะอยากเบ่งเลย ตอนนั้นปวดขามาก ลืมเล่าไปว่าสองวันก่อนเจ็บท้องคลอดนี่ปวดขาแทบเดินไม่ได้เลย วางบนขาหยั่งก็ไม่ได้ ปวด พยาบาลก็ยึดขาเราไว้  จนในที่สุดเราก็รู้สึกว่าอยากเบ่ง ก็เริ่ิมเบ่ง มีลมเบ่งช่วยแล้วเล่งอยู่ สาม สี่ที เวลา 8.09 ก็คลอดค่ะ เจอเจ้ามัทเทีย น่าร๊ากกมากก มาแต่เกิด พอลูกคลอด ความเจ็บทั้งมวลก็หายไป เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้น จิง ๆ นะ มีแต่ความสุขเข้ามาแทนที่ ตอนเจ็บท้องแอบคิดว่า เราจะรักลูกได้ยังไงทำให้เราเจ็บขนาดนี้ จะเอาชีวิตไม่รอด แต่พอเห็นหน้าก็รู้ว่า แม่นี่เหมือนปลาแซลมอน พอมีลูกก็ตาย ปลาแซลม่อนน่ะมันตายจริง แต่เเม่คนน่ะ เหมือนไม่มีอะไรเป็นของตัวเองอีกแล้ว ยกทั้งชีวิตให้ลูกหมดเลย   เล่ามาซะยาว ทำให้คนหวั่นไหว กลัวการคลอดเองไปบ้างรึป่าวนีา อย่ากลัวเลยค่ะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน นี่แค่ ประสบการณ์ลูกคนแรกนะ เเวะไปหาสาระกันก่อน เดี๋ยวมาเล่าคนที่สองให้ฟังจนท้ายบทความนะจ๊ะ


 

อาการคนท้องใกล้คลอด และ สัญญาณเตือนใกล้คลอด


อาการคนท้องใกล้คลอดหรือสัญญาณเตือนใกล้คลอดนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันค่ะ ที่ อาการคนท้องใกล้คลอด ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจถึง สัญญาณเตือนใกล้คลอด ที่มาเป็นระยะ ๆ เพราะอันที่จริงแล้วยังคงมีการเข้าใจผิวที่ว่า อาการคนท้องใกล้คลอด นั้นจะมาในครั้งเดียวอย่างต่อเนื่องแต่อันที่จริงนั้นอาการคนท้องใกล้คลอดจะมาเป็นระยะต่างหากค่ะ วันนี้เราจึงนำข้อมูลอาการคนท้องใกล้คลอดและสัญญาณเตือนใกล้คลอดมาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เรื่องคลอดของคุณแม่เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและเข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ



อาการคนท้องใกล้คลอด และ สัญญาณเตือนใกล้คลอด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ


การเจ็บท้องคลอดเป็นกระบวนการของร่างกาย โดยมดลูกจะเริ่มหดรัดตัวและปากมดลูกของคุณแม่จะเปิดขยายเพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนผ่านออกมาสู่โลกภายนอก ระยะที่ 1 จะประกอบด้วยระยะย่อย ๆ คือระยะเริ่มต้น ระยะเร่ง และระยะเปลี่ยนผ่าน ในแต่ละระยะนี้ปากมดลูกของคุณแม่จะเริ่มบางตัวและเปิดกว้างออกจนถึง 10 เซนติเมตร เพื่อเตรียมคลอด ส่วนระยะที่ 2 ของการคลอดเป็นระยะเบ่งคลอดที่คุณแม่จะเบ่งคลอดลูกน้อยออกมา และระยะที่ 3 จะเป็นระยะคลอดทารก



ระยะที่ 1


การคลอดระยะที่ 1 อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือในบางกรณีอาจยาวนานเป็นวัน ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรตกใจเมื่อเริ่มเจ็บท้องในช่วงเริ่มต้น

- ความรู้สึกในช่วงต้นของการเจ็บท้องคลอด


สำหรับคุณแม่หลายท่านอาการแรกสุดของการเจ็บท้องคลอดก็คือ ความรู้สึกปวดหน่วง ๆ คล้ายกับการปวดท้องเวลามีประจำเดือน นอกจากนี้คุณแม่อาจมีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ หรือรู้สึกปวดท้องหรือปวดหลังร่วมด้วย คุณแม่บางท่านอาจท้องเสียรู้สึกไม่สบายหรือคลื่นไส้อาเจียน ทั้งนี้เพราะในระยะเริ่มต้นของการเจ็บท้องคลอดระบบการย่อยอาหารของคุณแม่จะทำงานช้าลง ดังนั้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารเบา ๆ แทน เช่น ซุป ซีเรียล หรือขนมปังปิ้ง และดื่มน้ำมาก ๆ ในตอนแรกคุณแม่อาจจะไม่ทราบว่าความรู้สึกไม่สบายตัวนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเริ่มเจ็บท้องคลอด แต่เมื่ออาการเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นอาการปวดรุนแรงเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอหรือที่เรียกว่า การหดรัดตัวของมดลูก คุณแม่ก็จะทราบว่า กำลังเข้าสู่ช่วงของการเจ็บท้องคลอดแล้ว


- มีมูกขาวข้นออกทางช่องคลอด


ในช่วงที่คุณแม่อุ้มท้องอยู่นั้นที่บริเวณคอมดลูกจะมีมูกอุดกั้นอยู่ในระยะเริ่มต้นของการคลอดหรือก่อนหน้านั้น มูกหรือมูกปนเลือดจะหลุดออกมาเปรอะกางเกงชั้นในหรือในขณะที่คุณเข้าห้องน้ำหรือเรียกกันว่ามีมูกเลือดออกจากทางช่องคลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดในระยะเริ่มต้นของการคลอดเสมอไป ดังนั้น อย่ากังวลใจถ้าคุณแม่ไม่มีมูกออกมาทางช่องคลอดบางครั้งมูกอาจออกมาในระยะอื่นของการเจ็บท้องคลอดก็ได้


- น้ำเดิน


" น้ำเดิน " ที่พูดถึงนี้ที่จริงแล้วก็คือน้ำคร่ำซึ่งคอยรองรับลูกน้อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อร่างกายคุณพร้อมจะคลอดลูกแล้วถุงน้ำคร่ำจะแตกออกและน้ำคร่ำก็จะไหลออกมาจากช่องคลอด คุณแม่บางท่านบอกว่าได้ยินเสียง "โพละ" เบา ๆ  ด้วยซ้ำเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก และคุณแม่บางท่านอาจจะมีน้ำไหลออกมาเพียงเล็กน้อยแต่บางท่านก็ไหลออกมามาก หากคุณแม่มีน้ำคร่ำเดินตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเจ็บท้องคลอดคุณแม่อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด คุณแม่จึงไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดหรือมีเพศสัมพันธ์หรือลงแช่น้ำอุ่น
หากน้ำคร่ำเดินแล้วคุณแม่ควรติดต่อสูติแพทย์ที่ดูแลโดยทันทีเพื่อตรวจเช็คว่าถึงเวลาใกล้คลอดแล้วหรือยัง


- การเจ็บท้องคลอด


การเจ็บท้องคลอดเกิดจากการหดรัดตัวและผ่อนคลายเป็นจังหวะ ๆ ของกล้ามเนื้อบริเวณท้องและหลังของคุณแม่ และคุณแม่จะรู้สึกเจ็บมากกว่าอาการท้องแข็งในช่วงตั้งครรภ์ หากคุณแม่เข้าสู่ระยะเจ็บท้องคลอดแล้วคุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวรุนแรงขึ้นท นานขึ้น และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติแล้วในช่วงเริ่มต้นมดลูกจะหดรัดตัวทุก ๆ 10 นาที โดยแต่ละครั้งกินเวลานาน 40 วินาที เมื่อถึงเวลาใกล้คลอดแล้วมดลูกก็จะหดรัดตัวทุก ๆ 30 วินาที และแต่ละครั้งกินเวลานานกว่า 1 นาที อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเพราะคุณแม่แต่ละท่านอาจมีระยะเวลาการบีบรัดตัวของมดลูกแตกต่างกันไป (โดยปกติแล้วคุณหมอจะแนะนำให้ไป ร พ เมื่อมีการบีบรัดตัวของมดลูกทุก 10 นาที แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางจากบ้านไป รพ ด้วยนะคะ)


- การทำให้การคลอดระยะที่หนึ่งผ่านไปได้ด้วยดี

หากคุณแม่ทราบก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเวลาไหนบ้าง อาจจะช่วยให้คุณผ่อนคลายมากขึ้นและรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ ดังนั้น ลองดูคำแนะนำเหล่านี้ที่จะช่วยให้คุณแม่วางแผนล่วงหน้าได้

ค้นหาข้อมูลและคำแนะนำ

• ถ้าเป็นไปได้ คุณแม่ควรเข้ารับการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะการอบรมนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อ ช่วยในการเตรียมตัว รวมทั้งยังเป็นแหล่งให้ความช่วยเหลืออีกแหล่งหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น ควรเข้ารับการอบรมประเภทนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่ได้จัดการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรสอบถามสูติแพทย์ผู้ดูแลครรภ์หรือสอบถามทางโรงพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้

• มีหนังสือและวิดีโอจำนวนมากที่ให้ความรู้และคำแนะนำที่สามารถช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาการเจ็บท้องคลอดและการคลอดไปได้ด้วยดี และหากคุณแม่ได้เข้ารับการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจขอให้วิทยากรช่วยแนะนำหนังสือหรือวิดีโอที่ดีๆ ก็ได้

• นอกจากนี้ คุณหมอที่ดูแลคุณแม่ก็สามารถให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังยินดีตอบคำถามคุณแม่เกี่ยวกับการเจ็บท้องคลอดและการคลอดอีกด้วย


ทำใจให้สบาย

• การผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจจะช่วยให้คุณแม่เข้าสู่ท่วงทำนองของการคลอดได้อย่างกลมกลืน

• ความรู้สึกผ่อนคลายจะทำให้กล้ามเนื้อของคุณแม่ยืดหยุ่นและรับมือกับความเจ็บปวดในช่วงเจ็บท้องคลอดได้ดีกว่า ในขณะที่ถ้าคุณแม่เครียดและกดดัน กล้ามเนื้อจะยิ่งเกร็ง

• เมื่อคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย คุณแม่จะสามารถหายใจเข้า-ออกลึกๆ และทำให้ลูกน้อยผ่อนคลายไปด้วยเพราะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่


สังเกตและดูแลร่างกายของคุณ

• แรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยเสริมแรงคุณแม่ในการเบ่งคลอดทารกออกมา ดังนั้น หากเป็นไปได้ ท่าที่เหมาะสมในการเบ่งคลอดก็คือท่าในแนวตั้ง ซึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นท่ายืนเสมอไป อาจเป็นการนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า หรือนั่งแล้วโน้มตัวลงบนลูกบอลขนาดใหญ่ก็ได้ ที่สำคัญ คุณแม่ควรพยายามเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

• อันที่จริงแล้ว ไม่มีท่าคลอดท่าไหนที่ถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน คุณแม่จะเลือกทำท่าไหนก็ได้ที่รู้สึกว่าดีที่สุดสำหรับตัวคุณแม่เอง บางครั้ง อาจจะลองย้ายสะโพกไปมาหรือเดินขึ้นลงบันไดเตี้ยๆ หรือ อาจจะทำท่าคุกเข่าและใช้สองมือยันพื้นไว้ หรือจะนั่งคุกเข่าและโน้มตัวลงบนตั้งหมอนสูงๆ ก็ได้

• การร้องครวญครางหรือส่งเสียงออกมาอาจช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงเจ็บท้องคลอด ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเก็บกดเอาไว้ อย่าเขินอายไปเลย ลองนึกถึงนักเทนนิสเก่งๆ

• เข้าไว้ พวกเขาไม่เคยกลัวที่จะปลดปล่อยความเครียดไปกับเสียงตะโกนดังๆ หรือเสียงร้องไห้คร่ำครวญทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้าผู้ชมนับล้านๆ

หาวิธีที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

• มีวิธีการลดความเจ็บปวดได้มากมายหลายวิธี ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งยาเสมอไป คุณแม่อาจผ่อนคลายความปวดด้วยการแช่น้ำอุ่นหรืออาบน้ำอุ่นจากฝักบัว เพราะ น้ำอุ่นๆ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อยลง

• หากต้องการคลายเครียด คุณแม่อาจลงแช่ในสระน้ำอุ่นและลอยตัวในน้ำอย่างผ่อนคลาย

• สัมผัสอันอ่อนโยนก็ช่วยลดความปวดได้อย่างวิเศษ คุณแม่อาจขอให้เพื่อนในขณะคลอดช่วยโอบกอดไว้หรือลูบหลังหรือแขนในช่วงมดลูกบีบรัดตัว หากคุณแม่รู้สึกปวดหลังส่วนล่าง อาจขอให้เขาหรือเธอช่วยนวดเบาๆ ก็ได้

ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

• มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า คุณแม่ที่มีเพื่อนในขณะคลอดคอยให้กำลังใจ มักจะไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดหรือการแทรกแซงในระหว่างการคลอด

• นอกจากนี้ คุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือบอกความต้องการกับคุณหมอหรือพยาบาลห้องคลอดได้ หากคุณแม่รู้สึกกังวลใจขณะเจ็บท้องคลอดหรือมีอะไรไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามคุณหมอทันที อย่าลืมว่าคุณหมอและพยาบาลห้องคลอดมีหน้าที่ที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและเกิดความมั่นใจเสมอ

 

ระยะที่ 2


ระยะที่ 2 ของการคลอดจะเริ่มขึ้นเมื่อปากมดลูกของคุณแม่เปิดกว้างออกถึง 10 เซนติเมตร และจะสิ้นสุดลงเมื่อทารกคลอดออกมา หากท้องนี้เป็นท้องแรก ระยะที่สองอาจใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น แต่หากไม่ใช่ท้องแรกก็จะใช้เวลาสั้นกว่านั้นมากบางครั้งเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น

การเบ่งคลอดโดยธรรมชาติแล้วร่างกายของคุณแม่จะบอกเองว่าเมื่อไหร่ควรเบ่งคลอด ซึ่งเวลานั้นคุณแม่จะมีความรู้สึกอยากเบ่งจนสุดที่จะกลั้นไว้ได้ เมื่อหัวลูกโผล่พ้นออกมาทางช่องคลอดคุณหมออาจขอให้คุณแม่หยุดเบ่งก่อนและกลั้นลมเบ่งไว้ด้วยการหายใจสั้น ๆ ตื้น ๆ คล้ายคนหอบ ระยะเจ็บเบ่งนี้เป็นระยะที่มีความละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความอ่อนโยนพอสมควรเพื่อไม่ให้ปากช่องคลอดฉีกขาดมากเกินไป จากนั้นเมื่อกล้ามเนื้อขยายออกและมดลูกหดรัดตัวรอบใหม่คุณแม่จึงค่อยออกแรงเบ่งอีกครั้ง และในที่สุดทารกก็จะคลอดออกมาคุณหมอจะสำรวจทารก ตัดสายสะดือ และห่อหุ้มลูกน้อยด้วยผ้านุ่ม ๆ ก่อนจะส่งให้คุณแม่อุ้ม "ยินดีด้วยนะคะลูกของคุณแม่คลอดออกมาอย่างปลอดภัยแล้ว"


ระยะที่ 3


ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลกที่การคลอดยังไม่สิ้นสุดลง หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้วนั่นก็เพราะคุณแม่ยังต้องรอคลอดรกก่อน แต่ไม่ต้องกังวลใจไป สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะอยู่กับคุณแม่เพื่อดูแลการคลอดระยะที่ 3 นี้ จนสิ้นสุดการคลอดทารกคุณหมออาจเสนอการฉีดยาเพื่อช่วยเร่งการคลอดทารกให้เร็วขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการคลอดระยะที่ 3 นี้จะใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที แต่หากคุณแม่ต้องการจะคลอดทารกเองตามธรรมชาติก็อาจใช้เวลานานกว่านั้นซึ่งอาจนานถึง 1 ชั่วโมง คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกเริ่มต้นบีบรัดตัวใหม่ แต่จะไม่รุนแรงเท่ากับระยะที่ 2 จากนั้นทารกที่หลุดลอกแล้วก็จะดันผ่านปากมดลูกที่เปิดกว้างอยู่ออกมาทางช่องคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาหมดแล้วคุณหมอจะนำทารกไปตรวจเพื่อให้แน่ใจว่ารกลอกตัวออกหมดแล้ว และจะกดบริเวณหน้าท้องของคุณแม่เพื่อให้แน่ใจว่ามดลูกเริ่มหดรัดตัวลงแล้ว


การให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด หากคุณแม่ได้โอบกอดลูกน้อยแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ให้ลูกดูดนมแม่ได้เลยทันทีเพราะจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก 
http://www.n3k.in.th และ ดูเม็กซ์ ค่ะ
     

         ทีนี้เรามาเข้าสู่ประสบการณ์เจ็บท้องคลอดท้องที่สองกันนะคะ   ตอนท้องสองก็มีกำหนดคลอดเหมือนเจ้าพี่มัทเทีย คือ สิ้นเดือนมิถุนายน พอวัน 8 มิถุนายน 2011 ตื่นเช้ามาก็รู้สึกอาเจียน และ ถ่ายท้อง ทั้งวัน คิดว่าคงเป็นไข้ลงลำใส้ ตามปกติ  18.00 ก็ไปหาหมอประจำตัว คุณหมอบอกว่า อันนี้ไม่ใช่ไข้หวัดลงลำไส้หรอก แต่เป็น อาการเตือนคลอดอย่างหนึ่ง ให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน รอการเจ็บถี่ อาจจะคลอดหรือไม่คลอดก็ได้ เป็นคล้าย ๆ อาการเจ็บเตือน  แต่เเม่กุ๊กไม่เจ็บท้องนะ  พอกลับมาจากหมอถึงบ้านตอนทุ่มนึง เริ่มเจ็บเตือนทุก 15 นาที พอ 3 ทุ่ม ทุก 5 นาที ก็ยังไม่ไป รพ ไม่อยากไป กลัวซ้ำรอยเดิม แม่สามีบอก ไปเถอะ ไปเสียเที่ยวก็ช่าง ดีกว่าคลอดเองอยู่ที่บ้าน ก็เลยไปอย่างอ้อยอิ่ง ถึง รพ ก็เหมือนเดิม คาดเข็มขัดวัดการบีบมดลูก โอเค ทุกอย่างเรียบร้อย พยาบาลบอกว่าอยู่ รพ เตรียมคลอดเลยนะคะ ในใจคิดคราวนี้คงคลอดนะ จากนั้นก็ค่อย ๆ เจ็บถี่ขึ้นเป็นทุกสองนาที แอบดีใจ ของจริง ๆ  แต่พอเจ็บทุกสองนาทีจากนั้น ก็อาเจียน ความเจ็บก็หายไปประมาณ ครึ่ง - 1 ชม ถึงจะเริ่มเจ็บใหม่ วนอยู่อย่างนี้ ไม่อาเจียนก็ถ่ายท้อง ทานอะไรไปก็ออกหมด ไม่มีแรง จนเที่ยงวันที่ 9 มิ ย หมอตัดสินใจให้น้ำเกลือเร่งคลอด จากนั้นการคลอดก็เป็นไปตามขั้นตอน ที่อยู่ในบทความข้างต้น แต่ปัญหามันอยู่ที่เเม่กุ๊กไม่ได้ทานอะไรเลยมาเกือบสองวัน ความเจ็บน่ะ มันก็รุนแรงพอรับไหวถ้ามีกำลัง แต่ไม่มีกำลังอย่างนี้ มันเหมือนคนนอนใกล้ตายที่สติจะหลุดลอยไป สามีก็คอยเรียกให้สู้ เดี่ยวจะได้เห็นหน้าลูก จนคุณหมอถามว่ารู้สึกอยากเบ่งรึยังคะ (อย่างน้อยรอบนี้ก็ได้เจอทีมทำคลอดที่ดีมาก ใจเย็นและอ่อนโยน ไม่ไซโคหนักเหมือนคราวที่แล้ว) เราก็บอกว่าอยากเบ่งแล้วแต่ ไม่มีแรง หมอก็เลยเอาน้ำตาลซองน้อย ๆ มาให้คุณสามีช่วยกรอกปากให้เรา แล้วก็ได้น้ำตาลซองน้ัน ที่ช่วยให้เบ่งลูกคนที่สองออกมาเวลา 15.48 น สวัสดีค่ะ น้องสาวคนสวย อารีอันนา ^____^





วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ไตรมาสที่ 3



ครรภ์เดือนที่ 7 เดือนที่ 8 และเดือนที่ 9


ช่วง 3 เดือนสุดท้าย อวัยวะภายในร่างกายของคุณจะทำงานหนักมากขึ้น แต่อวัยวะบางส่วนจะทำงานน้อยลง และอาจมีเหตุการณ์สองสามอย่างเกิดขึ้น ดังนี้
มดลูกของคุณจะขยายใหญ่มากและแข็งมาก
คุณรู้สึกถึงการบีบรัดตัวของมดลูกและรู้สึกแน่นบริเวณมดลูกบางโอกาส
คุณปัสสาวะบ่อยมากขึ้นแต่ปัสสาวะออกมาเพียงเล็กน้อย กล้ามเนื้อเริ่มคลายตัวเพื่อพร้อมจะคลอด เมื่อเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้ออาจทำให้คุณต้องปัสสาวะถี่ขึ้นทุก ๆ 5 นาที หรือจนกว่าจะคลอด คุณอาจหายใจถี่มากขึ้น เพราะว่าปอดกำลังทำงานหนักเพื่อนำอากาศไปให้คุณและทารกน้อยในครรภ์ 
เนื่องจากขนาดและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาก คุณจะรู้สึกอึดอัดและเชื่องช้ามากขึ้น
อาการปวดหลังและปวดขาจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น 
คุณไม่สามารถนอนหลับในท่าที่สบาย ทำให้การนอนทำได้ยากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการเป็นแม่อาจทำให้คุณนอนไม่หลับด้วย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะนำมาสู่อาการอ่อนเพลีย
ช่วงเดือนสุดท้าย คุณจะรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากมดลูกเริ่มขยายเลื่อนขึ้นไปถึงปอด เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับทารกในครรภ์มากขึ้น  สัปดาห์ที่ 36 มดลูกเริ่มพร้อมที่จะคลอด ศีรษะของทารกเริ่มลดต่ำลงมาด้วย ทำให้คุณรู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น 
สัปดาห์ที่ 40 ร่างกายพร้อมที่จะให้กำเนิดทารก
ทารกในครรภ์เดือนที่ 7 8 และ 9
เดือนที่ 7, 8, 9 เป็น 3 เดือนสุดท้ายที่ทารกในครรภ์สามารถใช้ชีวิตได้ภายนอกมดลูก ทารกที่เกิดช่วงนี้อาจจะหายใจได้ไม่สะดวกและต้องการความอบอุ่นอย่างมาก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสามารถมีโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ น้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์จะเพิ่มอย่างรวดเร็ว และผิวหนังของทารกจะเริ่มเปลี่ยนจากรอยย่นมาสู่ผิวที่เรียบขึ้นและมีร่างกายที่สมบูรณ์ขึ้น


สัปดาห์ที่ 32  พัฒนาการส่วนต่างๆของทารกสมบูรณ์ ครบถ้วน ทารกจะอยู่ในท่าที่กลับหัวลงมาที่เชิงกราน ช่วงนี้ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ( 3 ½ ปอนด์)
สัปดาห์ที่ 36  ทารกเจริญเติบโตเต็มที่และพร้อมที่จะคลอด ดวงตาเป็นสีฟ้า เล็บมือ เล็บเท้านุ่มขึ้น  ทารกในครรภ์มีน้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม ( 5 ½ ปอนด์)
สัปดาห์สุดท้าย คือ ประมาณสัปดาห์ที่ 40 ทารกจะพร้อมคลอด ช่วงนี้เมื่อทารกตื่นนอน ดวงตาจะเปิดมองเห็นแสงสว่างและแสงไฟได้ เล็บมือและเล็บเท้ายาวขึ้น ดังนั้นเมื่อทารกคลอดออกมาจะต้องตัดเล็บโดยทันที น้ำหนักของทารกประมาณ 3.4 กิโลกรัม (7 ½ ปอนด์)

ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2


ไตรมาสที่ 2

เดือนที่ 4

อาการคลื่นไส้ในตอนเช้าจะลดน้อยลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2
คุณควรเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อให้เหมาะกับรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงที่มีการขยายของเอวและสะโพก
คุณอาจสังเกตว่ามีการเพิ่มขึ้นของน้ำลาย ซึ่งบางครั้งอาจเกี่ยวกับอาการคลื่นไส้ และมีเหงื่อออกมากขึ้น
คุณอาจจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์


ทารกเดือนที่ 4
สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะมีรูปร่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ช่วงเวลาต่อไปของการตั้งครรภ์จะเป็นการเพิ่มขยายของขนาดและอวัยวะภายในต่างๆให้ทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น
สัปดาห์ที่ 14 น้ำหนักทารกจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ  64 กรัม (2 ¼ ออนซ์) ช่วง 1 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ทารกจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 28 กรัม ( ประมาณ 1 ออนซ์) การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ สามารถตรวจการเต้นของหัวใจ  ช่วงนี้ทารกสามารถที่จะงอนิ้วเป็นกำปั้นได้
สัปดาห์ที่ 16 พบการเคลื่อนไหวของทารก ทารกมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น และอาจจะพบว่ามีขนอ่อนครอบคลุมอยู่ทั่วร่างกายและเริ่มมีคิ้วให้เห็น




เดือนที่ 5




ถ้าคุณไม่มีอาการเสียวที่หน้าอก คุณอาจจะเริ่มมีอาการเสียวแน่นที่หน้าอกในเดือนนี้.
ผิวหนังและเส้นผมอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น มีจุดด่างดำขึ้นที่ใบหน้า อาจพบว่าปานหรือไฝอาจมีสีคล้ำขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น ถ้าหากว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก หรือ สีเปลี่ยนไปเข้มจากเดิมมากกว่าปกติ คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของคุณ

ทารกเดือนที่ 5

ทารกช่วงนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ทารกจะมีขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร ( 10 นิ้ว) ทารกจะเริ่มมีการสร้างขากรรไกร กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงมากขึ้น คุณสามารถรู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้บ้างแล้วในเดือนนี้

เดือนที่ 6


ช่วงนี้คุณอาจจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก ต้นขา อาจมีสีคล้ำขึ้น มีลักษณะคล้ายเส้นใยแมงมุม และในบางคนอาจมีอาการริดสีดวงทวารร่วมด้วย
ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ถือว่าอายุครรภ์ของคุณมาได้เกินครึ่งทางแล้ว ดังนั้นน้ำหนักคุณจะเพิ่มขึ้นมากด้วย เอวและสะโพกจะหนาขึ้น
คุณจะปัสสาวะบ่อยมากขึ้น คุณควรระวังการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากช่วงนี้มดลูกคุณขยายตัวซึ่งอาจจะไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
ช่องคลอดอาจพบมีการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าพบว่ามีอาการตกขาวผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาโดยเร็ว

 ทารกเดือนที่ 6

สัปดาห์ที่ 24  ทารกมีขนาดประมาณ 33 เซนติเมตร (13 นิ้ว) ทารกสามารถไอและสะอึก ไขมันจะถูกเก็บเพื่อไว้หล่อเลี้ยงด้านนอกของมดลูก ดังนั้นตัวอ่อนอาจจะดูว่าตัวเล็กลง (ไขมันจะเริ่มมองเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ 28 ) และช่วงสุดท้ายของครรภ์ไตรมาสที่ 2 นี้ทารกจะเริ่มหายใจได้เอง










ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 1

    
    ตลอดระยะเวลาที่อุ้มท้อง เป็นประสบการณ์ที่แม่กุ๊กคิดว่าไม่มีใครลืม มันมีทั้งความสุข ทรมาน กังวล คิดมาก อารมณ์ตื่นเต้น กลัว ท้อแท้ รวมทั้งหมด เราต้องบอกตัวเองว่าชั้นอารมณ์ดี เพื่อให้ลูกอารมณ์ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะต้องปรับอารมณ์ให้ทันกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ตอนท้องแรก ๆ ก็แค่รู้ตัวว่าท้องฃ แต่จะมีสำนึกความเป็นแม่ส่วนใหญ่เลยก็ต่อเมื่อลูกเริ่มดิ้น แล้วเห็นอัลตร้าซาวด์ ตอนนั้นแหละคือความสุขที่สุดของคุณแม่ตั้งครรภ์


ไตรมาสที่ 1 


 เดือนที่ 1


คุณสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกภายในตัวคุณในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์
คุณอาจรู้สึกว่ามีรสชาติแปลกๆในปากซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณแรกหรือสัญญาณเดียว ที่แสดงให้คุณทราบถึงการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่กำลังเกิดขึ้นในตัวคุณ

ทารกในครรภ์เดือนที่ 1


ในช่วงสัปดาห์ที่สองของการตั้งครรภ์ โครงสร้างระบบประสาทส่วนกลางของตัวอ่อนจะเริ่มมีการสร้างและพัฒนาขึ้น


เดือนที่ 2

สัปดาห์ที่  5 เป็นช่วงเวลาของการเริ่มประจำเดือนขาด คุณอาจรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่สบาย คุณอาจเริ่มมีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น ตัวบวม กินมากขึ้น หิวบ่อย ปวดศีรษะ หน้าอกขยายและนุ่มขึ้น ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
สัปดาห์ที่ 6 ช่องคลอดและปากมดลูกจะมีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนบ่อยๆ
สัปดาห์ที่ 7 อาจรู้สึกวิงเวียนหรือเป็นลม อาจพบมีก้อนเล็กๆปรากฏขึ้นรอบหน้าอกและรอบหัวนมจะคล้ำขึ้น
สัปดาห์ที่ 8 ผมคุณจะเริ่มร่วงเพิ่มมากขึ้น มีมูกขาวๆไหลออกมาจากช่องคลอด
ทารกในครรภ์ เดือนที่ 2
สัปดาห์ที่ 5 สามารถเห็นทารกในครรภ์ได้ด้วยตาเปล่า
สัปดาห์ที่ 6 สามารถฟังเสียงหัวใจที่กำลังเต้น ช่วงนี้ส่วนของศีรษะ หน้าอก และท้องกำลังเริ่มพัฒนาสร้างขึ้น
สัปดาห์ที่ 7 ทารกในครรภ์เริ่มสร้างนิ้วมือและนิ้วเท้า 
  
เดือนที่ 3






สัปดาห์ที่ 9 คุณอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ต่อมไทรอยด์อาจรู้สึกเองว่าใหญ่ขึ้น อาจรู้สึกว่าเหงือกนุ่มมากขึ้น คุณจึงต้องดูแลช่องปากเพิ่มมากขึ้น สามารถดูรายละเอียด หัวข้อเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย
สัปดาห์ที่ 10 มดลูกจะมีขนาดเท่าพวงองุ่น หน้าอกจะขยายและคุณอาจต้องเปลี่ยนขนาดเสื้อชั้นใน
สัปดาห์ที่ 11 อาการคลื่นไส้อาเจียนในตอนเช้าอาจไม่มีแล้ว ความดันโลหิตอาจเพิ่มสูงขึ้น และบางคนอาจพบมีอาการเลือดกำเดาไหล
สัปดาห์ที่ 12 ช่วงสุดท้ายของระยะ 3 เดือนแรก มดลูกจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงเหนือกระดูกเชิงกราน

ทารกในครรภ์ เดือนที่ 3

สัปดาห์ที่ 9  สามารถมองเห็นปากและจมูกของทารก  แขนและขามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
สัปดาห์ที่ 10 นิ้วมือและนิ้วเท้าจะสร้างเสร็จแล้ว และมีการเชื่อมต่อกับผิวหนัง
สัปดาห์ที่ 11 อวัยวะภายในสร้างเสร็จและเริ่มทำหน้าที่ 
สัปดาห์ที่ 12 สัปดาห์สุดท้ายของระยะ 3 เดือนแรก เปลือกตาทารกยังคงปิดอยู่ อาจเริ่มเห็นเล็บมือ เล็บเท้า พัฒนาการของทารกในครรภ์ คือ สามารถสะอึกและกลืนน้ำคร่ำได้

ช่วงสุดท้ายของ 3 เดือนแรก ระบบการทำงานของร่างกายจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและอวัยวะภายในต่างๆใกล้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ตัวอ่อนจะไม่สามารถอาศัยอยู่ภายนอกของมดลูกได้ในช่วงอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์

credit by 











Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More