วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

การคลอด 1

การคลอด
         บทความที่แล้วแม่กุ๊กเล่าไปซะเยอะ เรื่องประสบการณ์ตัวเอง อันที่จริงเทียบกับหลาย ๆ คนแล้ว ถือว่าแม่กุ๊กโชคดีมาก ๆ ในการคลอดลูก  เคยมีคนพูดไว้ว่า วันเกิดของลูกเปรียบเหมือนวันตายของแม่ แม่กุ๊กเคยคิดว่าโอเว่อร์ แต่สองครั้งจากประสบการณ์แม่กุ๊กเองก็เห็นว่าจริงอย่างที่สุด  วันนี้เลยชวนว่าที่คุณแม่ ๆ ทั้งหลายมาคุยเรื่องการคลอด
        สมัยโบราณการคลอดมีความเสี่ยงชนิด 50 : 50 กันเลยทีเดียว คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ทำมาแต่ปางก่อน สมัยโลกไซเบอร์คุณแม่ไฮเทคอย่างเรา ๆ นี่ ความน่ากลัวมันลดน้อยลงไปเยอะ มีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยชีวิตของแม่และลูก  ดังนั้นไม่ต้องกลัวกันไปเกินเหตุนะคะ   ตอนแม่กุ๊กกลัวก็คิดในแง่บวกว่า เค้าคลอดกันทั้งโลก สมัยนี้ตายเพราะคลอดแทบไม่มีเลย ชิลล์ ๆ เป็นคุณแม่ต้องอารมณ์ดีและคิดบวกนะคร๊าาา
         แต่อย่านิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะถึงแม้จะมีคุณหมอและเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ แต่เราก็ไปหาคุณหมอแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น อีก 29 -30 วัน ที่เหลือก็คุณแม่และคนใกล้ชิดนะคะที่จะต้องดูแลเจ้าตัวน้อยๆ และตัวคุณแม่เองให้เเข็งเเรงนะจ๊ะ  จะได้พร้อมสำหรับการคลอด
         ไปหาบทความดี ๆ มาฝากจ้า 


          ก่อนอื่นต้องเริ่มตั้งต้นที่ความเข้าใจที่ว่า การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นความเสี่ยงของมารดาและบุตร ทุกการตั้งครรภ์แบ่งเป็นครรภ์เสี่ยงต่ำและครรภ์เสี่ยงสูง โดยครรภ์เสี่ยงต่ำสามารถเปลี่ยนเป็นครรภ์เสี่ยงสูงได้ตลอดเวลา การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ร่างกายสตรีมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในด้านร่างกายและอารมณ์


ระยะแรกเมื่อมีการตั้งครรภ์ความเสี่ยงที่มี ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีตัวเด็กหรือท้องลม การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์แฝด อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด ปวดหน่วงท้อง ปวดบริเวณต้นขา ขาหนีบ และหลัง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ง่วงนอน คล้ายคนขี้เกียจ เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญ ในกรณีนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ คุณแม่ต้องตะหนักรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ การจดจำประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อจะทำให้การวินิจฉัยอายุของการตั้งครรภ์สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำจะทำให้การวางแผนการดูแลครรภ์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ การเอาใจใส่และแจ้งให้ครอบครัวทราบเพื่อร่วมระมัดระวังในการดูแลครรภ์ ใส่ใจในเรื่องอาหารการกิน การใช้ยาระหว่างการตั้งครรภ์ น้ำหนักลด อาการผิดปกติที่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกจากช่องคลอด มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งข้อมูลการดูแลตนเองระหว่างการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่สามารถสอบถามแพทย์ที่ดูแลครรภ์เมื่อเริ่มฝากครรภ์หรือจะศึกษาความรู้ด้วยตนเองก่อนโดยเมื่อสงสัยในข้อมูลใดแล้วจึงสอบถามแพทย์อีกครั้งก็ได้ โดยทั่วไปแนะนำให้คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ทันที เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อกระบวนการในการร่วมกันดูแลรักษาจะได้เริ่มตั้งแต่ต้น เพราะหากแพทย์วิเคราะห์พบว่ามีครรภ์เสี่ยงสูง จะได้แนะนำรายละเอียดการดูแลต่อไป ความเสี่ยงที่ในระยะนี้ที่พบ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก การแท้ง หากแพทย์สงสัยว่าจะมีความเสี่ยงเหล่านี้ จะอธิบายแนวทางการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ในสมัยก่อน ภาวะเหล่านี้มักจะวินิจฉัยได้ล่าช้า มารดามักมาด้วยอาการของตกเลือดหรือสงสัยการแท้งก่อน คือ ปวดท้องน้อยมาก มีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีเลือดออกมาก จะทำให้มารดาตกเลือดเสียชีวิตได้  ในกรณีครรภ์แฝด คุณแม่ส่วนใหญ่มักชอบที่ได้ตั้งครรภ์แฝด แต่ในความเป็นจริงเป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่ในระยะแรกอาจพบ การแท้ง การเสียชีวิตของทารกในครรภ์คนใดคนหนึ่ง ภาวะแฝดติดกัน ซึ่งครรภ์แฝดเป็นภาวะที่แพทย์ผู้ดูแลต้องวิตกกังวลมากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด


เมื่อการตั้งครรภ์มีอายุครรภ์มากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แก่ การเจริญเติบโตช้าของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การมีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องอาศัยการเอาใจใส่ของคุณแม่และครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ของการดูแลครรภ์อยู่ที่บ้าน  การที่ผลการตั้งครรภ์จะดีจึงต้องได้รับความร่วมมือจากคุณแม่และครอบครัวในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนและรีบมาปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลบางแห่ง เช่น ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีสายด่วนคุณแม่ให้สามารถปรึกษาเรื่องครรภ์และการคลอดตลอด24 ชั่วโมงเพื่อเป็นการเพิ่มชั่วโมงในการให้คำปรึกษาและดูแลครรภ์ สำหรับการตรวจครรภ์ตามระยะนัดของการฝากครรภ์นั้น เป็นเพียงการคัดกรองความผิดปกติที่ตรวจพบขณะมาฝากครรภ์เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณแม่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายที่ยังไม่นับรวมความเสี่ยงของการคลอดที่สูงกว่าความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เพราะหากมีการคลอดที่ผิดปกติ เนิ่นนาน ติดขัด ตกเลือดหลังคลอด มดลูกแตก ก็เป็นเหตุให้เกิดมารดาเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกันกับทารกอาจบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน


การตั้งครรภ์และการคลอดของคุณแม่จึงเปรียบเสมือนการออกสู่สนามรบที่มีความเสี่ยง การเกิดของลูกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและมารดาปลอดภัยเป็นความหวังของทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแล หากลูกสักคนคิดจะฉลองวันเกิด ควรนึกถึงบุญคุณและความเสี่ยงของคุณแม่เสมอ เพราะวันเกิดของลูกนั้นเป็นวันเสี่ยงตายของคุณแม่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More