วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จะรู้ได้ไงว่าไกล้คลอด (อาการเตือนก่อนคลอด)

          ประสบการณ์ใกล้คลอดท้องแรกค่อนข้างจะวุ่นวาย เพราะเจ้าพี่มัทเทีย หมอกำหนดคลอดประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน แต่พอ 7 มิถุนายน 2010 แม่กุ๊กก็มีอาการเจ็บท้องคลอด รอ ร๊อ รอ จนเจ็บทุก 5 นาที ก็ไปโรงพยาบาล หมอก็เอาที่คาดมาวัดระดับการเจ็บถี่ ปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย นอน รพ เตรียมคลอดทันที (ว๊าว ๆ ถึงจะก่อนกำหนด แต่เราจะได้เห็นกันแล้วนะเจ้าลูกชาย)  จากนั้นก็นอนคาดเจ้าเครื่องวัดการบีบรัดมดลูกรอ ปากมดลูกเปิดครบ 10 ซม แล้วจะได้เข้าห้องคลอด จำได้ว่าเข้า รพ ตอน 23.00 วันที่ 7 มิย อยู่จนวันที่ 9 มิย ปากมดลูกเพิ่งเปิดได้ 3 ซม อาการที่เคยเจ็บถี่ก็หายไปซะเฉย ๆ หลังจากให้แม่กุ๊กทรมานมากว่า 2 วัน เพราะไม่ใช่เจ็บท้องที่ทรมาน แต่ปวดหลังนี่สุดยอด หมอบอกว่าเพราะกระดูกเชิงกรานกำลังเตรียมพร้อม โอว แม่เจ้า ทุกคอร์สที่แม่กุ๊กไปเรียนมาทั้งฟรีและเสียตัง (โยคะคุณแม่ตั้งครรภ์,คอร์สเตรียมคลอด) ช่วยอารายช๊ายไม่ได้เล๊ยยย  มันลืมหมดเลย T_T  แล้วในระหว่างวันเห็นคนอื่นเค้ามาแป๊บเดียวคลอดแล้ว เห็นเด็กมากมาย คิดน้อยใจว่าทำไมไม่คลอดซะทีน๊า จนวันที่ 9 มิย อาการเจ็บทั้งปวงก็หายไปหมด แต่เจ้ามัทเทียก็ยังดุ๊กดิ๊กอยู่ในท้องแม่ ถึงตอนนี้ร้องไห้หนักกว่าตอนเจ็บท้องกับปวดหลังอีก มันเหมือนเราหวังไว้ว่าจะได้กลับบ้านกับลูก และแล้วคุณหมอเลยบอกให้กลับบ้าน จากวันที่เก้า เราก็รอ รี๊อ รอ ไม่มีอาการอะไรอีกเลย จนตีสามวันที่ 29 มิย ปวดท้องคลอด เจ็บถี่ทันทีทุก 5 นาทีก็ยังไม่ไป รพ กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย  กว่าจะตัดสินใจไป ก็ ตีสี่ พอถึง รพ เจ็บทุกสองนาทีแล้ว เดินไปแผนกต้อนรับยังจะไม่ไหวเลย เดินสองก้าว หยุด อยู่อย่างนั้น รู้สึกว่ามันไกลแสนไกล พอ 7 โมงเช้า ปากมดลูกก็เปิด 10 ซม คราวนี้ล่ะคลอดแน่ 555 หมอก็เจาะน้ำคร่ำ ที่ห้องตรวจเลย แต่จากห้องตรวจไปห้องคลอดต้องเดินอีกประมาณ 1 1 กิโล หมอบอกว่าเดินเถอะนะ จะได้แรงโน้มถ่วงโลกช่วย เดี๋ยวจะได้เบ่งง่าย ๆ คอยดู ค่ะหมอ รับคำอย่างมีความหวัง ปรากฏว่าแต่ละก้าวช่างทรมาน กว่าจะถึงห้องคลอด แล้วหมอที่นี่ก็ใจเด็ด ไม่ช่วยเล้ย พยายามให้ทำเอง เข้าใจในความปรารถนาดี แต่มันดูไม่มีน้ำใจ ที่เดินนำเราไป แล้วหันกลับมาท้าวสะเอวมองเป็นระยะ ๆ ว่า หล่อน แค่นี้ทำไมเดินช้านักยะ (ถ้าถามมาละก็ แม่จะสวนให้ 555 คนมันกำลังเครียด) พอถึงห้องคลอด ก็เริ่มเบ่ง เราบอกว่ายังไม่มีลมเบ่งและไม่รู้สึกอยากเบ่ง เค้าก็พยายามให้เราเบ่งอยู่นั่นแหละ พอเบ่งมั่ว ๆ ก็ดุเอาอีก ก็คนบอกว่ายังไม่อยากเบ่ง เหมือนเราไม่ปวดอึ จะมาแกล้งปวดอึมันไม่ด๊ายย คุณหมอ จากนั้นก็เริ่มความกดดันเพื่อให้เราอยากเบ่งขึ้นเรื่อย ๆ จำได้ นังคุณพยาบาลคนหนึ่งตะโกนใส่หูมาว่า ไอ้ที่จะออกมาน่ะ มันหัวเด็กนะ ไม่ใช่เม็ดถั่ว เบ่งแค่นี้ เม็ดถั่วมันยังไม่ออกให้เลย โอ๊ย ได้ยินแล้วแค้น ไซโคซะอยากเบ่งเลย ตอนนั้นปวดขามาก ลืมเล่าไปว่าสองวันก่อนเจ็บท้องคลอดนี่ปวดขาแทบเดินไม่ได้เลย วางบนขาหยั่งก็ไม่ได้ ปวด พยาบาลก็ยึดขาเราไว้  จนในที่สุดเราก็รู้สึกว่าอยากเบ่ง ก็เริ่ิมเบ่ง มีลมเบ่งช่วยแล้วเล่งอยู่ สาม สี่ที เวลา 8.09 ก็คลอดค่ะ เจอเจ้ามัทเทีย น่าร๊ากกมากก มาแต่เกิด พอลูกคลอด ความเจ็บทั้งมวลก็หายไป เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้น จิง ๆ นะ มีแต่ความสุขเข้ามาแทนที่ ตอนเจ็บท้องแอบคิดว่า เราจะรักลูกได้ยังไงทำให้เราเจ็บขนาดนี้ จะเอาชีวิตไม่รอด แต่พอเห็นหน้าก็รู้ว่า แม่นี่เหมือนปลาแซลมอน พอมีลูกก็ตาย ปลาแซลม่อนน่ะมันตายจริง แต่เเม่คนน่ะ เหมือนไม่มีอะไรเป็นของตัวเองอีกแล้ว ยกทั้งชีวิตให้ลูกหมดเลย   เล่ามาซะยาว ทำให้คนหวั่นไหว กลัวการคลอดเองไปบ้างรึป่าวนีา อย่ากลัวเลยค่ะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน นี่แค่ ประสบการณ์ลูกคนแรกนะ เเวะไปหาสาระกันก่อน เดี๋ยวมาเล่าคนที่สองให้ฟังจนท้ายบทความนะจ๊ะ


 

อาการคนท้องใกล้คลอด และ สัญญาณเตือนใกล้คลอด


อาการคนท้องใกล้คลอดหรือสัญญาณเตือนใกล้คลอดนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกันค่ะ ที่ อาการคนท้องใกล้คลอด ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะนี้จะช่วยให้คุณแม่เข้าใจถึง สัญญาณเตือนใกล้คลอด ที่มาเป็นระยะ ๆ เพราะอันที่จริงแล้วยังคงมีการเข้าใจผิวที่ว่า อาการคนท้องใกล้คลอด นั้นจะมาในครั้งเดียวอย่างต่อเนื่องแต่อันที่จริงนั้นอาการคนท้องใกล้คลอดจะมาเป็นระยะต่างหากค่ะ วันนี้เราจึงนำข้อมูลอาการคนท้องใกล้คลอดและสัญญาณเตือนใกล้คลอดมาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เรื่องคลอดของคุณแม่เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและเข้าใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วยค่ะ



อาการคนท้องใกล้คลอด และ สัญญาณเตือนใกล้คลอด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ


การเจ็บท้องคลอดเป็นกระบวนการของร่างกาย โดยมดลูกจะเริ่มหดรัดตัวและปากมดลูกของคุณแม่จะเปิดขยายเพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนผ่านออกมาสู่โลกภายนอก ระยะที่ 1 จะประกอบด้วยระยะย่อย ๆ คือระยะเริ่มต้น ระยะเร่ง และระยะเปลี่ยนผ่าน ในแต่ละระยะนี้ปากมดลูกของคุณแม่จะเริ่มบางตัวและเปิดกว้างออกจนถึง 10 เซนติเมตร เพื่อเตรียมคลอด ส่วนระยะที่ 2 ของการคลอดเป็นระยะเบ่งคลอดที่คุณแม่จะเบ่งคลอดลูกน้อยออกมา และระยะที่ 3 จะเป็นระยะคลอดทารก



ระยะที่ 1


การคลอดระยะที่ 1 อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือในบางกรณีอาจยาวนานเป็นวัน ๆ ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรตกใจเมื่อเริ่มเจ็บท้องในช่วงเริ่มต้น

- ความรู้สึกในช่วงต้นของการเจ็บท้องคลอด


สำหรับคุณแม่หลายท่านอาการแรกสุดของการเจ็บท้องคลอดก็คือ ความรู้สึกปวดหน่วง ๆ คล้ายกับการปวดท้องเวลามีประจำเดือน นอกจากนี้คุณแม่อาจมีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ หรือรู้สึกปวดท้องหรือปวดหลังร่วมด้วย คุณแม่บางท่านอาจท้องเสียรู้สึกไม่สบายหรือคลื่นไส้อาเจียน ทั้งนี้เพราะในระยะเริ่มต้นของการเจ็บท้องคลอดระบบการย่อยอาหารของคุณแม่จะทำงานช้าลง ดังนั้น คุณแม่ควรรับประทานอาหารเบา ๆ แทน เช่น ซุป ซีเรียล หรือขนมปังปิ้ง และดื่มน้ำมาก ๆ ในตอนแรกคุณแม่อาจจะไม่ทราบว่าความรู้สึกไม่สบายตัวนี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเริ่มเจ็บท้องคลอด แต่เมื่ออาการเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นอาการปวดรุนแรงเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอหรือที่เรียกว่า การหดรัดตัวของมดลูก คุณแม่ก็จะทราบว่า กำลังเข้าสู่ช่วงของการเจ็บท้องคลอดแล้ว


- มีมูกขาวข้นออกทางช่องคลอด


ในช่วงที่คุณแม่อุ้มท้องอยู่นั้นที่บริเวณคอมดลูกจะมีมูกอุดกั้นอยู่ในระยะเริ่มต้นของการคลอดหรือก่อนหน้านั้น มูกหรือมูกปนเลือดจะหลุดออกมาเปรอะกางเกงชั้นในหรือในขณะที่คุณเข้าห้องน้ำหรือเรียกกันว่ามีมูกเลือดออกจากทางช่องคลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องมีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดในระยะเริ่มต้นของการคลอดเสมอไป ดังนั้น อย่ากังวลใจถ้าคุณแม่ไม่มีมูกออกมาทางช่องคลอดบางครั้งมูกอาจออกมาในระยะอื่นของการเจ็บท้องคลอดก็ได้


- น้ำเดิน


" น้ำเดิน " ที่พูดถึงนี้ที่จริงแล้วก็คือน้ำคร่ำซึ่งคอยรองรับลูกน้อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อร่างกายคุณพร้อมจะคลอดลูกแล้วถุงน้ำคร่ำจะแตกออกและน้ำคร่ำก็จะไหลออกมาจากช่องคลอด คุณแม่บางท่านบอกว่าได้ยินเสียง "โพละ" เบา ๆ  ด้วยซ้ำเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก และคุณแม่บางท่านอาจจะมีน้ำไหลออกมาเพียงเล็กน้อยแต่บางท่านก็ไหลออกมามาก หากคุณแม่มีน้ำคร่ำเดินตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเจ็บท้องคลอดคุณแม่อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด คุณแม่จึงไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดหรือมีเพศสัมพันธ์หรือลงแช่น้ำอุ่น
หากน้ำคร่ำเดินแล้วคุณแม่ควรติดต่อสูติแพทย์ที่ดูแลโดยทันทีเพื่อตรวจเช็คว่าถึงเวลาใกล้คลอดแล้วหรือยัง


- การเจ็บท้องคลอด


การเจ็บท้องคลอดเกิดจากการหดรัดตัวและผ่อนคลายเป็นจังหวะ ๆ ของกล้ามเนื้อบริเวณท้องและหลังของคุณแม่ และคุณแม่จะรู้สึกเจ็บมากกว่าอาการท้องแข็งในช่วงตั้งครรภ์ หากคุณแม่เข้าสู่ระยะเจ็บท้องคลอดแล้วคุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัวรุนแรงขึ้นท นานขึ้น และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติแล้วในช่วงเริ่มต้นมดลูกจะหดรัดตัวทุก ๆ 10 นาที โดยแต่ละครั้งกินเวลานาน 40 วินาที เมื่อถึงเวลาใกล้คลอดแล้วมดลูกก็จะหดรัดตัวทุก ๆ 30 วินาที และแต่ละครั้งกินเวลานานกว่า 1 นาที อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเพราะคุณแม่แต่ละท่านอาจมีระยะเวลาการบีบรัดตัวของมดลูกแตกต่างกันไป (โดยปกติแล้วคุณหมอจะแนะนำให้ไป ร พ เมื่อมีการบีบรัดตัวของมดลูกทุก 10 นาที แต่ก็ขึ้นอยู่กับระยะทางจากบ้านไป รพ ด้วยนะคะ)


- การทำให้การคลอดระยะที่หนึ่งผ่านไปได้ด้วยดี

หากคุณแม่ทราบก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเวลาไหนบ้าง อาจจะช่วยให้คุณผ่อนคลายมากขึ้นและรู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ ดังนั้น ลองดูคำแนะนำเหล่านี้ที่จะช่วยให้คุณแม่วางแผนล่วงหน้าได้

ค้นหาข้อมูลและคำแนะนำ

• ถ้าเป็นไปได้ คุณแม่ควรเข้ารับการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะการอบรมนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อ ช่วยในการเตรียมตัว รวมทั้งยังเป็นแหล่งให้ความช่วยเหลืออีกแหล่งหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้น ควรเข้ารับการอบรมประเภทนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่ได้จัดการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรสอบถามสูติแพทย์ผู้ดูแลครรภ์หรือสอบถามทางโรงพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้

• มีหนังสือและวิดีโอจำนวนมากที่ให้ความรู้และคำแนะนำที่สามารถช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาการเจ็บท้องคลอดและการคลอดไปได้ด้วยดี และหากคุณแม่ได้เข้ารับการอบรมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจขอให้วิทยากรช่วยแนะนำหนังสือหรือวิดีโอที่ดีๆ ก็ได้

• นอกจากนี้ คุณหมอที่ดูแลคุณแม่ก็สามารถให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังยินดีตอบคำถามคุณแม่เกี่ยวกับการเจ็บท้องคลอดและการคลอดอีกด้วย


ทำใจให้สบาย

• การผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจจะช่วยให้คุณแม่เข้าสู่ท่วงทำนองของการคลอดได้อย่างกลมกลืน

• ความรู้สึกผ่อนคลายจะทำให้กล้ามเนื้อของคุณแม่ยืดหยุ่นและรับมือกับความเจ็บปวดในช่วงเจ็บท้องคลอดได้ดีกว่า ในขณะที่ถ้าคุณแม่เครียดและกดดัน กล้ามเนื้อจะยิ่งเกร็ง

• เมื่อคุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย คุณแม่จะสามารถหายใจเข้า-ออกลึกๆ และทำให้ลูกน้อยผ่อนคลายไปด้วยเพราะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่


สังเกตและดูแลร่างกายของคุณ

• แรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยเสริมแรงคุณแม่ในการเบ่งคลอดทารกออกมา ดังนั้น หากเป็นไปได้ ท่าที่เหมาะสมในการเบ่งคลอดก็คือท่าในแนวตั้ง ซึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นท่ายืนเสมอไป อาจเป็นการนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า หรือนั่งแล้วโน้มตัวลงบนลูกบอลขนาดใหญ่ก็ได้ ที่สำคัญ คุณแม่ควรพยายามเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

• อันที่จริงแล้ว ไม่มีท่าคลอดท่าไหนที่ถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน คุณแม่จะเลือกทำท่าไหนก็ได้ที่รู้สึกว่าดีที่สุดสำหรับตัวคุณแม่เอง บางครั้ง อาจจะลองย้ายสะโพกไปมาหรือเดินขึ้นลงบันไดเตี้ยๆ หรือ อาจจะทำท่าคุกเข่าและใช้สองมือยันพื้นไว้ หรือจะนั่งคุกเข่าและโน้มตัวลงบนตั้งหมอนสูงๆ ก็ได้

• การร้องครวญครางหรือส่งเสียงออกมาอาจช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงเจ็บท้องคลอด ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเก็บกดเอาไว้ อย่าเขินอายไปเลย ลองนึกถึงนักเทนนิสเก่งๆ

• เข้าไว้ พวกเขาไม่เคยกลัวที่จะปลดปล่อยความเครียดไปกับเสียงตะโกนดังๆ หรือเสียงร้องไห้คร่ำครวญทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้าผู้ชมนับล้านๆ

หาวิธีที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

• มีวิธีการลดความเจ็บปวดได้มากมายหลายวิธี ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งยาเสมอไป คุณแม่อาจผ่อนคลายความปวดด้วยการแช่น้ำอุ่นหรืออาบน้ำอุ่นจากฝักบัว เพราะ น้ำอุ่นๆ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อยลง

• หากต้องการคลายเครียด คุณแม่อาจลงแช่ในสระน้ำอุ่นและลอยตัวในน้ำอย่างผ่อนคลาย

• สัมผัสอันอ่อนโยนก็ช่วยลดความปวดได้อย่างวิเศษ คุณแม่อาจขอให้เพื่อนในขณะคลอดช่วยโอบกอดไว้หรือลูบหลังหรือแขนในช่วงมดลูกบีบรัดตัว หากคุณแม่รู้สึกปวดหลังส่วนล่าง อาจขอให้เขาหรือเธอช่วยนวดเบาๆ ก็ได้

ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

• มีข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า คุณแม่ที่มีเพื่อนในขณะคลอดคอยให้กำลังใจ มักจะไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดหรือการแทรกแซงในระหว่างการคลอด

• นอกจากนี้ คุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือบอกความต้องการกับคุณหมอหรือพยาบาลห้องคลอดได้ หากคุณแม่รู้สึกกังวลใจขณะเจ็บท้องคลอดหรือมีอะไรไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามคุณหมอทันที อย่าลืมว่าคุณหมอและพยาบาลห้องคลอดมีหน้าที่ที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและเกิดความมั่นใจเสมอ

 

ระยะที่ 2


ระยะที่ 2 ของการคลอดจะเริ่มขึ้นเมื่อปากมดลูกของคุณแม่เปิดกว้างออกถึง 10 เซนติเมตร และจะสิ้นสุดลงเมื่อทารกคลอดออกมา หากท้องนี้เป็นท้องแรก ระยะที่สองอาจใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น แต่หากไม่ใช่ท้องแรกก็จะใช้เวลาสั้นกว่านั้นมากบางครั้งเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น

การเบ่งคลอดโดยธรรมชาติแล้วร่างกายของคุณแม่จะบอกเองว่าเมื่อไหร่ควรเบ่งคลอด ซึ่งเวลานั้นคุณแม่จะมีความรู้สึกอยากเบ่งจนสุดที่จะกลั้นไว้ได้ เมื่อหัวลูกโผล่พ้นออกมาทางช่องคลอดคุณหมออาจขอให้คุณแม่หยุดเบ่งก่อนและกลั้นลมเบ่งไว้ด้วยการหายใจสั้น ๆ ตื้น ๆ คล้ายคนหอบ ระยะเจ็บเบ่งนี้เป็นระยะที่มีความละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความอ่อนโยนพอสมควรเพื่อไม่ให้ปากช่องคลอดฉีกขาดมากเกินไป จากนั้นเมื่อกล้ามเนื้อขยายออกและมดลูกหดรัดตัวรอบใหม่คุณแม่จึงค่อยออกแรงเบ่งอีกครั้ง และในที่สุดทารกก็จะคลอดออกมาคุณหมอจะสำรวจทารก ตัดสายสะดือ และห่อหุ้มลูกน้อยด้วยผ้านุ่ม ๆ ก่อนจะส่งให้คุณแม่อุ้ม "ยินดีด้วยนะคะลูกของคุณแม่คลอดออกมาอย่างปลอดภัยแล้ว"


ระยะที่ 3


ฟังดูอาจเป็นเรื่องแปลกที่การคลอดยังไม่สิ้นสุดลง หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้วนั่นก็เพราะคุณแม่ยังต้องรอคลอดรกก่อน แต่ไม่ต้องกังวลใจไป สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะอยู่กับคุณแม่เพื่อดูแลการคลอดระยะที่ 3 นี้ จนสิ้นสุดการคลอดทารกคุณหมออาจเสนอการฉีดยาเพื่อช่วยเร่งการคลอดทารกให้เร็วขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นการคลอดระยะที่ 3 นี้จะใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที แต่หากคุณแม่ต้องการจะคลอดทารกเองตามธรรมชาติก็อาจใช้เวลานานกว่านั้นซึ่งอาจนานถึง 1 ชั่วโมง คุณแม่จะรู้สึกว่ามดลูกเริ่มต้นบีบรัดตัวใหม่ แต่จะไม่รุนแรงเท่ากับระยะที่ 2 จากนั้นทารกที่หลุดลอกแล้วก็จะดันผ่านปากมดลูกที่เปิดกว้างอยู่ออกมาทางช่องคลอด เมื่อทารกคลอดออกมาหมดแล้วคุณหมอจะนำทารกไปตรวจเพื่อให้แน่ใจว่ารกลอกตัวออกหมดแล้ว และจะกดบริเวณหน้าท้องของคุณแม่เพื่อให้แน่ใจว่ามดลูกเริ่มหดรัดตัวลงแล้ว


การให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด หากคุณแม่ได้โอบกอดลูกน้อยแบบเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังคลอด คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ให้ลูกดูดนมแม่ได้เลยทันทีเพราะจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูก
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก 
http://www.n3k.in.th และ ดูเม็กซ์ ค่ะ
     

         ทีนี้เรามาเข้าสู่ประสบการณ์เจ็บท้องคลอดท้องที่สองกันนะคะ   ตอนท้องสองก็มีกำหนดคลอดเหมือนเจ้าพี่มัทเทีย คือ สิ้นเดือนมิถุนายน พอวัน 8 มิถุนายน 2011 ตื่นเช้ามาก็รู้สึกอาเจียน และ ถ่ายท้อง ทั้งวัน คิดว่าคงเป็นไข้ลงลำใส้ ตามปกติ  18.00 ก็ไปหาหมอประจำตัว คุณหมอบอกว่า อันนี้ไม่ใช่ไข้หวัดลงลำไส้หรอก แต่เป็น อาการเตือนคลอดอย่างหนึ่ง ให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน รอการเจ็บถี่ อาจจะคลอดหรือไม่คลอดก็ได้ เป็นคล้าย ๆ อาการเจ็บเตือน  แต่เเม่กุ๊กไม่เจ็บท้องนะ  พอกลับมาจากหมอถึงบ้านตอนทุ่มนึง เริ่มเจ็บเตือนทุก 15 นาที พอ 3 ทุ่ม ทุก 5 นาที ก็ยังไม่ไป รพ ไม่อยากไป กลัวซ้ำรอยเดิม แม่สามีบอก ไปเถอะ ไปเสียเที่ยวก็ช่าง ดีกว่าคลอดเองอยู่ที่บ้าน ก็เลยไปอย่างอ้อยอิ่ง ถึง รพ ก็เหมือนเดิม คาดเข็มขัดวัดการบีบมดลูก โอเค ทุกอย่างเรียบร้อย พยาบาลบอกว่าอยู่ รพ เตรียมคลอดเลยนะคะ ในใจคิดคราวนี้คงคลอดนะ จากนั้นก็ค่อย ๆ เจ็บถี่ขึ้นเป็นทุกสองนาที แอบดีใจ ของจริง ๆ  แต่พอเจ็บทุกสองนาทีจากนั้น ก็อาเจียน ความเจ็บก็หายไปประมาณ ครึ่ง - 1 ชม ถึงจะเริ่มเจ็บใหม่ วนอยู่อย่างนี้ ไม่อาเจียนก็ถ่ายท้อง ทานอะไรไปก็ออกหมด ไม่มีแรง จนเที่ยงวันที่ 9 มิ ย หมอตัดสินใจให้น้ำเกลือเร่งคลอด จากนั้นการคลอดก็เป็นไปตามขั้นตอน ที่อยู่ในบทความข้างต้น แต่ปัญหามันอยู่ที่เเม่กุ๊กไม่ได้ทานอะไรเลยมาเกือบสองวัน ความเจ็บน่ะ มันก็รุนแรงพอรับไหวถ้ามีกำลัง แต่ไม่มีกำลังอย่างนี้ มันเหมือนคนนอนใกล้ตายที่สติจะหลุดลอยไป สามีก็คอยเรียกให้สู้ เดี่ยวจะได้เห็นหน้าลูก จนคุณหมอถามว่ารู้สึกอยากเบ่งรึยังคะ (อย่างน้อยรอบนี้ก็ได้เจอทีมทำคลอดที่ดีมาก ใจเย็นและอ่อนโยน ไม่ไซโคหนักเหมือนคราวที่แล้ว) เราก็บอกว่าอยากเบ่งแล้วแต่ ไม่มีแรง หมอก็เลยเอาน้ำตาลซองน้อย ๆ มาให้คุณสามีช่วยกรอกปากให้เรา แล้วก็ได้น้ำตาลซองน้ัน ที่ช่วยให้เบ่งลูกคนที่สองออกมาเวลา 15.48 น สวัสดีค่ะ น้องสาวคนสวย อารีอันนา ^____^





วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 3

ไตรมาสที่ 3



ครรภ์เดือนที่ 7 เดือนที่ 8 และเดือนที่ 9


ช่วง 3 เดือนสุดท้าย อวัยวะภายในร่างกายของคุณจะทำงานหนักมากขึ้น แต่อวัยวะบางส่วนจะทำงานน้อยลง และอาจมีเหตุการณ์สองสามอย่างเกิดขึ้น ดังนี้
มดลูกของคุณจะขยายใหญ่มากและแข็งมาก
คุณรู้สึกถึงการบีบรัดตัวของมดลูกและรู้สึกแน่นบริเวณมดลูกบางโอกาส
คุณปัสสาวะบ่อยมากขึ้นแต่ปัสสาวะออกมาเพียงเล็กน้อย กล้ามเนื้อเริ่มคลายตัวเพื่อพร้อมจะคลอด เมื่อเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้ออาจทำให้คุณต้องปัสสาวะถี่ขึ้นทุก ๆ 5 นาที หรือจนกว่าจะคลอด คุณอาจหายใจถี่มากขึ้น เพราะว่าปอดกำลังทำงานหนักเพื่อนำอากาศไปให้คุณและทารกน้อยในครรภ์ 
เนื่องจากขนาดและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นมาก คุณจะรู้สึกอึดอัดและเชื่องช้ามากขึ้น
อาการปวดหลังและปวดขาจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น 
คุณไม่สามารถนอนหลับในท่าที่สบาย ทำให้การนอนทำได้ยากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับการเป็นแม่อาจทำให้คุณนอนไม่หลับด้วย การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะนำมาสู่อาการอ่อนเพลีย
ช่วงเดือนสุดท้าย คุณจะรู้สึกสบายขึ้น เนื่องจากมดลูกเริ่มขยายเลื่อนขึ้นไปถึงปอด เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับทารกในครรภ์มากขึ้น  สัปดาห์ที่ 36 มดลูกเริ่มพร้อมที่จะคลอด ศีรษะของทารกเริ่มลดต่ำลงมาด้วย ทำให้คุณรู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น 
สัปดาห์ที่ 40 ร่างกายพร้อมที่จะให้กำเนิดทารก
ทารกในครรภ์เดือนที่ 7 8 และ 9
เดือนที่ 7, 8, 9 เป็น 3 เดือนสุดท้ายที่ทารกในครรภ์สามารถใช้ชีวิตได้ภายนอกมดลูก ทารกที่เกิดช่วงนี้อาจจะหายใจได้ไม่สะดวกและต้องการความอบอุ่นอย่างมาก ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสามารถมีโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ น้ำหนักและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์จะเพิ่มอย่างรวดเร็ว และผิวหนังของทารกจะเริ่มเปลี่ยนจากรอยย่นมาสู่ผิวที่เรียบขึ้นและมีร่างกายที่สมบูรณ์ขึ้น


สัปดาห์ที่ 32  พัฒนาการส่วนต่างๆของทารกสมบูรณ์ ครบถ้วน ทารกจะอยู่ในท่าที่กลับหัวลงมาที่เชิงกราน ช่วงนี้ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ( 3 ½ ปอนด์)
สัปดาห์ที่ 36  ทารกเจริญเติบโตเต็มที่และพร้อมที่จะคลอด ดวงตาเป็นสีฟ้า เล็บมือ เล็บเท้านุ่มขึ้น  ทารกในครรภ์มีน้ำหนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม ( 5 ½ ปอนด์)
สัปดาห์สุดท้าย คือ ประมาณสัปดาห์ที่ 40 ทารกจะพร้อมคลอด ช่วงนี้เมื่อทารกตื่นนอน ดวงตาจะเปิดมองเห็นแสงสว่างและแสงไฟได้ เล็บมือและเล็บเท้ายาวขึ้น ดังนั้นเมื่อทารกคลอดออกมาจะต้องตัดเล็บโดยทันที น้ำหนักของทารกประมาณ 3.4 กิโลกรัม (7 ½ ปอนด์)

ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 2


ไตรมาสที่ 2

เดือนที่ 4

อาการคลื่นไส้ในตอนเช้าจะลดน้อยลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2
คุณควรเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อให้เหมาะกับรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงที่มีการขยายของเอวและสะโพก
คุณอาจสังเกตว่ามีการเพิ่มขึ้นของน้ำลาย ซึ่งบางครั้งอาจเกี่ยวกับอาการคลื่นไส้ และมีเหงื่อออกมากขึ้น
คุณอาจจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์


ทารกเดือนที่ 4
สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนจะมีรูปร่างสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น ช่วงเวลาต่อไปของการตั้งครรภ์จะเป็นการเพิ่มขยายของขนาดและอวัยวะภายในต่างๆให้ทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น
สัปดาห์ที่ 14 น้ำหนักทารกจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ  64 กรัม (2 ¼ ออนซ์) ช่วง 1 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ทารกจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 28 กรัม ( ประมาณ 1 ออนซ์) การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ สามารถตรวจการเต้นของหัวใจ  ช่วงนี้ทารกสามารถที่จะงอนิ้วเป็นกำปั้นได้
สัปดาห์ที่ 16 พบการเคลื่อนไหวของทารก ทารกมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น และอาจจะพบว่ามีขนอ่อนครอบคลุมอยู่ทั่วร่างกายและเริ่มมีคิ้วให้เห็น




เดือนที่ 5




ถ้าคุณไม่มีอาการเสียวที่หน้าอก คุณอาจจะเริ่มมีอาการเสียวแน่นที่หน้าอกในเดือนนี้.
ผิวหนังและเส้นผมอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น มีจุดด่างดำขึ้นที่ใบหน้า อาจพบว่าปานหรือไฝอาจมีสีคล้ำขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น ถ้าหากว่าไฝมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก หรือ สีเปลี่ยนไปเข้มจากเดิมมากกว่าปกติ คุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของคุณ

ทารกเดือนที่ 5

ทารกช่วงนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ทารกจะมีขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร ( 10 นิ้ว) ทารกจะเริ่มมีการสร้างขากรรไกร กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงมากขึ้น คุณสามารถรู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้บ้างแล้วในเดือนนี้

เดือนที่ 6


ช่วงนี้คุณอาจจะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก ต้นขา อาจมีสีคล้ำขึ้น มีลักษณะคล้ายเส้นใยแมงมุม และในบางคนอาจมีอาการริดสีดวงทวารร่วมด้วย
ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ ถือว่าอายุครรภ์ของคุณมาได้เกินครึ่งทางแล้ว ดังนั้นน้ำหนักคุณจะเพิ่มขึ้นมากด้วย เอวและสะโพกจะหนาขึ้น
คุณจะปัสสาวะบ่อยมากขึ้น คุณควรระวังการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากช่วงนี้มดลูกคุณขยายตัวซึ่งอาจจะไปกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ
ช่องคลอดอาจพบมีการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าพบว่ามีอาการตกขาวผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลรักษาโดยเร็ว

 ทารกเดือนที่ 6

สัปดาห์ที่ 24  ทารกมีขนาดประมาณ 33 เซนติเมตร (13 นิ้ว) ทารกสามารถไอและสะอึก ไขมันจะถูกเก็บเพื่อไว้หล่อเลี้ยงด้านนอกของมดลูก ดังนั้นตัวอ่อนอาจจะดูว่าตัวเล็กลง (ไขมันจะเริ่มมองเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ 28 ) และช่วงสุดท้ายของครรภ์ไตรมาสที่ 2 นี้ทารกจะเริ่มหายใจได้เอง










ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ไตรมาสที่ 1

    
    ตลอดระยะเวลาที่อุ้มท้อง เป็นประสบการณ์ที่แม่กุ๊กคิดว่าไม่มีใครลืม มันมีทั้งความสุข ทรมาน กังวล คิดมาก อารมณ์ตื่นเต้น กลัว ท้อแท้ รวมทั้งหมด เราต้องบอกตัวเองว่าชั้นอารมณ์ดี เพื่อให้ลูกอารมณ์ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะต้องปรับอารมณ์ให้ทันกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ตอนท้องแรก ๆ ก็แค่รู้ตัวว่าท้องฃ แต่จะมีสำนึกความเป็นแม่ส่วนใหญ่เลยก็ต่อเมื่อลูกเริ่มดิ้น แล้วเห็นอัลตร้าซาวด์ ตอนนั้นแหละคือความสุขที่สุดของคุณแม่ตั้งครรภ์


ไตรมาสที่ 1 


 เดือนที่ 1


คุณสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกภายในตัวคุณในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์
คุณอาจรู้สึกว่ามีรสชาติแปลกๆในปากซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณแรกหรือสัญญาณเดียว ที่แสดงให้คุณทราบถึงการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายที่กำลังเกิดขึ้นในตัวคุณ

ทารกในครรภ์เดือนที่ 1


ในช่วงสัปดาห์ที่สองของการตั้งครรภ์ โครงสร้างระบบประสาทส่วนกลางของตัวอ่อนจะเริ่มมีการสร้างและพัฒนาขึ้น


เดือนที่ 2

สัปดาห์ที่  5 เป็นช่วงเวลาของการเริ่มประจำเดือนขาด คุณอาจรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่สบาย คุณอาจเริ่มมีอาการบางอย่างร่วมด้วย เช่น ตัวบวม กินมากขึ้น หิวบ่อย ปวดศีรษะ หน้าอกขยายและนุ่มขึ้น ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
สัปดาห์ที่ 6 ช่องคลอดและปากมดลูกจะมีการไหลเวียนของเลือดมากขึ้น มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนบ่อยๆ
สัปดาห์ที่ 7 อาจรู้สึกวิงเวียนหรือเป็นลม อาจพบมีก้อนเล็กๆปรากฏขึ้นรอบหน้าอกและรอบหัวนมจะคล้ำขึ้น
สัปดาห์ที่ 8 ผมคุณจะเริ่มร่วงเพิ่มมากขึ้น มีมูกขาวๆไหลออกมาจากช่องคลอด
ทารกในครรภ์ เดือนที่ 2
สัปดาห์ที่ 5 สามารถเห็นทารกในครรภ์ได้ด้วยตาเปล่า
สัปดาห์ที่ 6 สามารถฟังเสียงหัวใจที่กำลังเต้น ช่วงนี้ส่วนของศีรษะ หน้าอก และท้องกำลังเริ่มพัฒนาสร้างขึ้น
สัปดาห์ที่ 7 ทารกในครรภ์เริ่มสร้างนิ้วมือและนิ้วเท้า 
  
เดือนที่ 3






สัปดาห์ที่ 9 คุณอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ต่อมไทรอยด์อาจรู้สึกเองว่าใหญ่ขึ้น อาจรู้สึกว่าเหงือกนุ่มมากขึ้น คุณจึงต้องดูแลช่องปากเพิ่มมากขึ้น สามารถดูรายละเอียด หัวข้อเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย
สัปดาห์ที่ 10 มดลูกจะมีขนาดเท่าพวงองุ่น หน้าอกจะขยายและคุณอาจต้องเปลี่ยนขนาดเสื้อชั้นใน
สัปดาห์ที่ 11 อาการคลื่นไส้อาเจียนในตอนเช้าอาจไม่มีแล้ว ความดันโลหิตอาจเพิ่มสูงขึ้น และบางคนอาจพบมีอาการเลือดกำเดาไหล
สัปดาห์ที่ 12 ช่วงสุดท้ายของระยะ 3 เดือนแรก มดลูกจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงเหนือกระดูกเชิงกราน

ทารกในครรภ์ เดือนที่ 3

สัปดาห์ที่ 9  สามารถมองเห็นปากและจมูกของทารก  แขนและขามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
สัปดาห์ที่ 10 นิ้วมือและนิ้วเท้าจะสร้างเสร็จแล้ว และมีการเชื่อมต่อกับผิวหนัง
สัปดาห์ที่ 11 อวัยวะภายในสร้างเสร็จและเริ่มทำหน้าที่ 
สัปดาห์ที่ 12 สัปดาห์สุดท้ายของระยะ 3 เดือนแรก เปลือกตาทารกยังคงปิดอยู่ อาจเริ่มเห็นเล็บมือ เล็บเท้า พัฒนาการของทารกในครรภ์ คือ สามารถสะอึกและกลืนน้ำคร่ำได้

ช่วงสุดท้ายของ 3 เดือนแรก ระบบการทำงานของร่างกายจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและอวัยวะภายในต่างๆใกล้จะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ตัวอ่อนจะไม่สามารถอาศัยอยู่ภายนอกของมดลูกได้ในช่วงอายุครรภ์ที่ 12 สัปดาห์

credit by 











Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More