วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

การดูแลตัวเองหลังคลอด

การดูแลตัวเองหลังคลอด
                    หลังจากที่เราแม่ ๆ ดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อยในทางที่สมบูรณ์มากกก มา 9 เดือน พอหลังคลอด เราแม่ ๆ ก็คงรู้สึกกันแล้วว่า ร่างกายชั้นเป็นอะไรไปเนี่ยมันบวมพองป่องไปหมด ใครที่ดูแลตัวเองด้านอาหารการกินมาโดยตลอด จะเถียงแม่กุ๊กไม่ได้แหละคร่า ว่าหน้าท้อง นั่นคือปัญหา  นอกจากนี้เราคนไทยเรายังสนใจเรื่องการอยู่ไฟเพื่อสุขภาพ ตัวแม่กุ๊กอยู่อิตาลี่ เรื่องอยู่ไฟนี่ไปบอกใครเค้าก็หัวเราะ แต่เรื่องหน้าท้องแทบจับเข่าคุยกัน คุณแม่ที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้เข็มขัดรัดหน้าท้อง คล้าย ๆ เสตย์บ้านเราน่ะคะ ใส่ยาวเลย  แล้วก็ออกกำลังกายกันอย่างสม่ำเสมอ  เลือกทานอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นมลูก เพื่อน ๆ คุณแม่ที่ไปเข้าคอร์สคุณแม่ด้วยกัน แค่สองสามเดือนให้หลัง ก็กลับมาเช๊งกะเด๊ะกันหมดแล้ว  ส่วนแม่กุ๊กนับไม่ได้ เพราะดั๊นท้องต่อเลย ก็เลยมาลดเอาหลังท้องสอง แต่จตะบอกว่าความคืบหน้าค่อนข้างน้อย น้ำหนักน่ะลด แต่หน้าท้องนี่สิคะ ยังไม่เท่าไหร่เลย ไม่อยากบอกว่าไม่มีเวลา เพราะแม่กุ๊กคิดว่าตัวเองไม่มีความตั้งใจพอมากกว่า ส่วนเรื่องอยู่ไฟนี่ลงทุนสั่งทางไกลจากเมืองไทยเลยนะคะ ที่นี่เลยค่ะ http://www.kumsamunpai.com/  ของเค้าโอเคมาก สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบไม่ยากนักน่ะค่ะ แม่กุ๊กซื้อมาสำหรับ 1 เดือนแต่ทำได้แค่อาทิตย์เดียวค่ะ เพราะคุณสามีโดนเรียกตัวกลับไปทำงานด่วน ดังนั้นจึงไม่มีใครคอยดูลูกให้ ตอนกลางคืนแม่กุ๊กก็เหนื่อยซะจนไม่มีแรงจะพทำแล้วล่ะค่ะ ไล่มาซะยาว ไปแอบหาบทความดี ๆ มาให้คุณแม่ ๆ ทั้งหลายอ่านดีกว่า


                   การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอดลูก แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดลูกอีกด้วย คือคลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดลูก และยังมีปัจจัยส่วนบุคคลอื่นๆ อีกที่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการดังนี้

  • มีน้ำคาวปลาสีแดงสด และค่อยๆ จางลงในปลายสัปดาห์และจะหมดไปภายใน 3 สัปดาห์ หรืออาจจะมีกระปริบกระปรอยเล็กน้อยจนครบ 6 สัปดาห์ หากน้ำคาวปลายังเป็นสีแดงสดนานเกิน 1 สัปดาห์ควรให้แพทย์ตรวจอีกครั้ง
  • อาจมีการปวดมดลูกเป็นพักๆ เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อคืนสู่สภาพเดิมของมดลูก (เข้าอู่) จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อให้นมลูก เนื่องจากเมื่อลูกดูดนมจะมีการสร้างสารออกซิโทซินเพิ่มมากขึ้นในเลือดของแม่ หากปวดมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาแก้ปวดได้ อาการนี้จะหมดไปเองภายใน 4-7 วันหลังคลอด หากมีการปวดนานเกิน 7 วันควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในมดลูกทำให้โพรงมดลูกอักเสบได้
  • ความเหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย
  • ปวดบริเวณเย็บฝีเย็บ ในช่วงพักฟื้น พยาบาลจะดูแผลฝีเย็บทุกวัน ให้คำแนะนำในการทำความสะอาดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พยาบาลจะแนะนำให้ใส่ผ้าอนามัย และเปลี่ยนทุก 4-6 ชั่วโมง ล้างทุกครั้งหลังปัสสาวะ อุจจาระ โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่แพทย์แนะนำ (แต่โดยปกติจะไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ) เช็ดให้แห้งโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ใช้มือจับฝีเย็บจนกว่าจะตัดไหม
  • เจ็บแผลหน้าท้อง (กรณีใช้วิธีผ่าตัดคลอดลูก)
  • เคลื่อนไหวร่างกายยังไม่สะดวก อาจจะรู้สึกลำบากและไม่คล่องตัว
  • ถ่ายปัสสาวะไม่สะดวก โดยเฉพาะวันแรก อาจจะท้องผูก
  • รู้สึกปวดเมื่อยทั้งตัว
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะ 2 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากร่างกายจะขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย อาการนี้จะอยู่นานเป็นสัปดาห์เพื่อปรับร่างกายเข้าสู่สภาพปกติ ดังนั้นควรจะอาบน้ำบ่อยขึ้นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ ได้ แต่ถ้าไข้สูงเกิน 38 องศาควรปรึกษาแพทย์
  • เต้านมตึง อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลกรณีที่ลูกดูดนมแรงเกินไป
  • อารมณ์แปรปรวน เดี่ยวเศร้าซึม เดี่ยวตื่นเต้น อ่อนไหวง่าย
  • มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือบางรายอาจจะลดลง

อาการหลังคลอดที่ควรระวัง และต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน หากมีอาการเหล่านี้

  • มีเลือดออกมาทางช่องคลอดจนชุ่มผ้าอนามัย 1 ผืนภายใน 1 ชั่วโมง ควรรีบไปโรงพยาบาล และใช้น้ำแข็งวางบนหน้าท้องหรือมดลูกเพื่อให้เลือดออกมาน้อยลง
  • น้ำคาวปลามีสีแดงสดนานเกิน 4 วัน
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งปกติแล้วกลิ่นจะเหมือนเลือดประจำเดือน
  • มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกทางช่องคลอด ซึ่งปกติแล้วอาจจะมีเพียงลิ่มเลือดเล็กๆ ออกมาปนกับน้ำคาวปลา
  • น้ำคาวปลาไม่ไหล โดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดรำคาญในระยะ 1 สัปดาห์หลังคลอด
  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเกิน 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะหลังคลอดวันแรก
  • เจ็บหน้าอก ซึ่งอาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดเล็กๆ ในปอด
  • การปวดบวมของขาและน่อง อาจเกิดจากมีหลอดเลือดอุดตันบริเวณนั้น
  • อาการปวด บวม ของเต้านมบางส่วน แม้ว่าอาการตึงคัดจะหายไปแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมบางส่วนทำให้เกิดการอักเสบของเต้านม
  • มีอาการบวมแดงของแผลผ่าตัด เป็นหนอง มีน้ำเหลืองไหลซึม
  • ปัสสาวะแล้วแสบหรือรู้สึกขัด ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยลง และสีเข้มจัด
  • มีอาการซึมเศร้าเกิน 2-3 วัน และมีอารมณ์โกรธร่วมด้วย
เครดิตโดย 
http://www.babytrick.com/new-born-baby-tip/take-care-your-self-after-birth.html

การอยู่ไฟ


         ตั้งแต่ยุคโบราณนานมา ผู้เฒ่าผู้แก่มักให้หญิงที่เพิ่งคลอดอยู่ไฟและสืบทอดต่อกันมา ทุกวันนี้การอยู่ไฟหลังคลอดกลับมาเป็นที่นิยมของคุณแม่หลังคลอดอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดมีทรวดทรงองค์เอว ผิวพรรณหน้าตาสดใสเหมือนก่อนตั้งครรภ์

โรงพญาบาลกล้วยน้ำไท 1 เปิดประเด็น ม่ามี๊ ก็ผิวใสและเซ็กซี่ น็อตตี้ ได้ด้วยการอยู่ไฟ ให้กระจ่างชัดไปเลยว่าอยู่ไฟมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร โดยน.พ.ก้องศาสดิ์ ดีนิรันดร์ สูติ-นรีแพทย์ กล่าวว่าน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 ก.ก. ผิวคล้ำขึ้น มีสีเข้มคาดที่กลางลำตัว หน้าท้องแตกลายเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสะสม หลังคลอดแล้วน้ำหนักจะลดลงทันทีประมาณ 5.5 ก.ก. แต่ยังคงมีน้ำหนักตัวหลงเหลืออยู่ จากนั้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ มดลูกจะกลับมาเหมือนภาวะปกติร้อยละ 70 หรือเรียกกันว่า มดลูกเข้าอู่

แม้จะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่ก็มีความรู้เรื่องการอยู่ไฟด้วย คุณหมอบอกว่าการประคบทำให้คลายเมื่อย คลายเครียดเพราะขณะอยู่ไฟไม่ได้เลี้ยงลูก อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดสูบฉีดดีขึ้นซึ่งเกิดจากความร้อนจากการอบตัวในกระโจมเหมือนอบเซาน่าในปัจจุบัน


ส่วนการขัดผิวเป็นการลอกเซลล์ผิวที่คล้ำออกแล้วเซลล์ผิวที่ใสและสะอาดที่สุดซึ่งอยู่ชั้นล่างก็จะโตเร็วขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดเลือดที่ดี อีกทั้งช่วยให้น้ำคาวปลาออกหมดเร็ว การปัสสาวะและอุจจาระก็พลอยดีขึ้นไปด้วย


อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟมีข้อเสียเหมือนกัน

หากคลอดปกติทางช่องคลอดต้องรอให้แผลฝีเย็บละลายเสียก่อนซึ่งมักจะใช้เวลา 7-10 วัน แต่กรณีคลอดแบบผ่าตัดต้องรอให้แผลหายดีเสียก่อนสักประมาณ 45 วัน และคุณแม่ยังต้องคำนึงถึงโรคประจำตัวด้วย เช่น บางคนเป็นโรคเบาหวาน หากมีแผลที่เท้าและชาเท้าขณะนวดหรืออบไฟก็อาจไม่รู้ตัวและทำให้แผลลามขึ้นได้ ส่วนคนเป็นความดันก็ต้องระวังเพราะขณะนวดความดันจะเพิ่มขึ้น และคนที่เป็นโรคหัวใจก็ควรระวังด้วย
มาคุยกับแพทย์แผนไทยประยุกต์กันบ้าง น.ส.กมลมาสย์ หลวงแสน กล่าวถึงขั้นตอนการอยู่ไฟว่า

• ขั้นแรกคุณแม่ต้องดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพร แล้วอาบน้ำสมุนไพร สำหรับสมุนไพรที่ใช้อาบและอบตัวนั้น ประกอบด้วย ไพล ขมิ้นชันที่มีสรรพคุณแก้ฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย ตะไคร้และมะกรูดช่วยระบบทางเดินหายใจและดับกลิ่นน้ำคาวปลา ผักบุ้งแดงช่วยบำรุงสายตา ใบมะขามและใบส้มป่อยช่วยบำรุงน้ำเหลือง นอกจากนั้นก็มีการบูร พิมเสน เกลือ ว่านน้ำ

• จากนั้นนวดประคบโดยใช้ลูกประคบซึ่งใช้สมุนไพรสดเหมือนกับสมุนไพรที่ใช้อาบน้ำ แล้วมาทับหม้อเกลือซึ่งมีว่านชักมดลูกและว่านนางคำช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและขับน้ำคาวปลา ประกอบกับใช้หม้ออินทนนท์ซึ่งใส่เกลือตัวผู้เม็ดใหญ่ๆ ลงไปและอบในไมโครเวฟให้ร้อนแล้วใช้ใบพลับพลึงวางซ้อนกันก่อนวางหม้อบนหน้าท้องเป็นการขับน้ำคาวปลาและลดการเกร็งของหน้าท้อง

• หลังจากนั้น เป็นการนวดน้ำมัน ขัดผิวและอยู่กระโจมโดยเข้าไปอบตัวในกระโจม 10 นาที ออกมาพัก และเข้าไปใหม่ รวม 3 ครั้ง อาจทำทุกวันก็ได้เรื่อยไปจนกระทั่ง 1 เดือน


นอกจากนี้ ยังมีที่คาดไฟชุดหรือคาดไฟหลวง ประกอบด้วยกล่องอะลูมิเนียม แท่งยาซึ่งเป็นแท่งถ่านและผ้าคาดเอว จุดไฟครั้งหนึ่งก็จะร้อนนานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยให้วางผ้าขนหนูรอบเอวเสียก่อนแล้วค่อยใส่ผ้าคาดเอวซึ่งจะทำวันละ 2-3 ครั้งก็ได้ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานบ้านหรือไม่ค่อยมีเวลา ไม่สะดวกในการอยู่กระโจมหรือประคบ


เหตุใดราคาคอร์สอยู่ไฟถึงแพงมาก บางคอร์สเกือบหมื่น บางคอร์สหลายหมื่น พยาบาลชวนพิศ ยงยิ่งยืน ไขข้อสงสัยว่าเป็นเพราะราคาสมุนไพรที่แพงตามฤดูกาลและหายาก และยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 5 ชั่วโมงของการอยู่ไฟต่อหนึ่งวัน อีกทั้งน้ำมันนวดราคาแพง


ส่วนคุณแม่ลูก 4 ที่มีประสบการณ์อยู่ไฟอย่างโชกโชน นางอัจรียา อีดี้ ยืนยันว่าการอยู่ไฟดีต่อสุขภาพคุณแม่หลังคลอด ช่วยให้คลายปวดเมื่อยและไม่เคยมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวเลย พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับเพื่อช่วยให้คุณแม่กลับมาสดใสในเวลาเร็ววันว่ามีหลัก แขม่ว ขมิบ และเขย่ง โดยยกแขนขึ้นและลงพร้อมกับขมิบและเขย่งไปพร้อมกัน


ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างวิถีไทยและความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่ช่วยให้คุณแม่ดูดีขึ้นได้อย่างใจในเวลาไม่นาน


วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

การคลอด 2 เลือกวิธีการคลอด

  วิธีการคลอด
                  สมัยนี้อะไร ๆ ก็สะดวกสบาย จะคลอดลูกยังเลือกได้ อะไรจะวิเศษไปกว่านี้  สมัยก่อนน่ะเหรอ โหนผ้าที่ผูกขื่อบ้าน เจ็บก็ต้องทน เดี่ยวนี้มีทั้งยาช่วยระงับความเจ็บ มีทู๊กกอย่าง วันนี้แม่กุ๊กก็เลยไปหาวิธีคลอดลูกแบบต่าง ๆ มาให้ว่าที่คุณแม่ ๆ ทั้งหลาย ได้ศึกษาหาวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเองและทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเเพทย์นะคะ




วิธีการคลอดลูก

การคลอดในโรงพยาบาลมีข้อดีตรงที่เป็นศูนย์รวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย คุณแม่มีทางเลือกมากมายใน การลดความเจ็บปวด และถ้าจำเป็นคุณแม่ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดคลอดได้ทันที พร้อมยังได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในกรณีฉุกเฉิน คุณแม่สามารถปรึกษาสูติแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการคลอดและการดูแลในขณะคลอดได้ตามที่คุณแม่ต้องการ และหากมีเรื่องใดที่คุณไม่แน่ใจว่าจะได้ผลจริงหรือไม่หรือสิ่งไหนที่คุณไม่ต้องการควรแจ้งให้แพทย์ได้ทราบเพื่อปรึกษาและหาทางเลือกที่เหมาะสมในการคลอด  และควรบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในแผนการคลอดของคุณ นอกจากนี้ต้องแน่ใจว่าคนรักของคุณหรือคนคนที่จะเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนในห้องคลอดได้ทราบถึงการตัดสินใจนี้ด้วย


การคลอดธรรมชาติ

 สำหรับคุณแม่ที่มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง การคลอดธรรมชาติ จะเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณและลูกน้อย สูติแพทย์จะตรวจดูช่วงใกล้ถึงกำหนดคลอดว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าศีรษะลงสู่เชิงกรานหรือไม่ การคลอดธรรมชาติ นั้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บครรภ์อย่างมากซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ความอดทนให้มากที่สุดและพยายามอย่าใช้ยาเร่งคลอดควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะอาการเจ็บแสดงถึงการคลอดที่กำลังดำเนินต่อไป สูติแพทย์อาจฉีดยาแก้ปวดเข้าทางเส้นเลือดหรือการฉีดยาชาเข้าทางไขสันหลังเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้คุณได้
 ** แอบบอกว่า วิธีระงับความเจ็บที่ดีที่สุด คือ ฝึกกำหนดลมหายใจค่ะ อันนี้แม่กุ๊กใช้มาแล้ว การสูดลมหายใจลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ปล่อยออกมาจะทำให้รู้สึกเจ็บน้อยมาก แต่ต้องค่อย ๆ นะคะ ถ้าหายใจเร็วและแรงเกินไปทำให้เกิดอาการเหน็บชา เพราะออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ แล้วยังทำให้รู้สึกเหมือนจะตายอีกด้วย เข้าใจว่าวินาทีนั้น ไม่มีอารมณ์จะค่อย ๆ แต่เราต้องมีสติที่ดี ค่ะ เดี๋ยวนี้มีสอน
วิธีหายใจตามคอร์สเตรียมคลอดทั่วไป มีประโยชน์มากเลยนะคะ
















การผ่าตัดคลอด


คุณแม่บางท่านสูติแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดคลอดเนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว มีบุตรเมื่ออายุมาก หรือศีรษะทารกไม่หันสู่เชิงกรานเมื่อครบกำหนดคลอด หรือคุณแม่บางท่านเชื่อในดวงหรือเวลาเกิดจึงดูฤกษ์เพื่อทำการผ่าตัดคลอด ด้วยความเชื่อที่ว่าลูกน้อยจะแข็งแรงและมีความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต แต่การผ่าตัดคลอดจะทำให้คุณแม่เสียเลือดมากกว่าการคลอดโดยธรรมชาติถึง 2 เท่า และจะเจ็บแผลนานกว่า แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น


ปัจจุบันเพื่อลดความเจ็บปวดและทำการผ่าตัดได้อย่างได้ผล สูติแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ดมยาสลบหรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง โดยคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างผ่าตัด แต่การดมยาสลบคุณแม่จะไม่มีส่วนร่วมในการคลอด ไม่สามารถเห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอด เพราะจะหลับไม่รู้ตัวและฟื้นตัวอีกทีหลังคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่จึงไม่เลือกวิธีนี้อีกทั้งยาสลบอาจมีผลต่อลูกได้ เช่น ลูกคลอดแล้วไม่ร้อง ไม่ค่อยหายใจ เพราะเขาได้รับยาสลบเข้าไปด้วย ส่วนการฉีดยาเข้าไขสันหลังหรือบล็อกหลังนั้น ลูกน้อยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดเพราะไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพียงแต่จะทำให้ส่วนล่างชาไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด แต่คุณแม่สามารถรับรู้ได้ทุกอย่างพร้อมทั้งได้ยินเสียงลูกและได้เห็นหน้าลูกทันทีที่เขาคลอดออกมา ทั้งนี้ การผ่าตัดคลอด คุณแม่จะเจ็บแผลนานกว่าและมากกว่าการคลอดแบบธรรมชาติ




การคลอดในน้ำ


การคลอดอีกวิธีหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศก็คือ การคลอดในน้ำ  เพราะช่วยลดความเจ็บปวดในการคลอดแต่ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากคุณแม่หลายท่านกังวลในความปลอดภัยทั้งของตนเองและลูกน้อย  อีกทั้งการคลอดด้วยวิธีนี้สุขภาพของคุณแม่ต้องแข็งแรงไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เพราะการคลอดในน้ำจะไม่ใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจลูก  แต่จริง ๆ แล้ว การคลอดในน้ำ ก็ไม่น่ากังวลอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ หากคุณแม่มีความพร้อมและมีสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรงสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็พร้อมจะช่วยดูแลคุณอย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้ปวดหรือฉีดยาใด ๆ  และเมื่อศีรษะของทารกพ้นจากช่องคลอดของแม่แล้ว ก็สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำช่วยรองรับแรงกระแทก ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย รวมถึงคุณแม่เองก็จะรู้สึกเบาสบายไม่เจ็บอีกด้วย




นอกจากนี้ยังมีอีกมากมาย เช่น คลอดไร้ความเจ็บ คลอดที่บ้านและอีกหลาย ๆ อย่าง แต่โดยทั่วไปแล้วหลัก ๆ ก็จะเลือกอยู่สามวิธีข้างต้น  วิธีการคลอดในน้ำนี่แม่กุ๊กอยากลองมาก แต่ตอนที่ท้อง รพ ที่มีวิธีนี้อยู่ไกลบ้าน เลยอด และไม่คิดจะคลอดอีกแล้วค่ะ สองคนพอแล้ว ใครมีโอกาสคลอดวิธีไหนมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ


*เครดิตโดย  http://www.n3k.in.th

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

การคลอด 1

การคลอด
         บทความที่แล้วแม่กุ๊กเล่าไปซะเยอะ เรื่องประสบการณ์ตัวเอง อันที่จริงเทียบกับหลาย ๆ คนแล้ว ถือว่าแม่กุ๊กโชคดีมาก ๆ ในการคลอดลูก  เคยมีคนพูดไว้ว่า วันเกิดของลูกเปรียบเหมือนวันตายของแม่ แม่กุ๊กเคยคิดว่าโอเว่อร์ แต่สองครั้งจากประสบการณ์แม่กุ๊กเองก็เห็นว่าจริงอย่างที่สุด  วันนี้เลยชวนว่าที่คุณแม่ ๆ ทั้งหลายมาคุยเรื่องการคลอด
        สมัยโบราณการคลอดมีความเสี่ยงชนิด 50 : 50 กันเลยทีเดียว คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ทำมาแต่ปางก่อน สมัยโลกไซเบอร์คุณแม่ไฮเทคอย่างเรา ๆ นี่ ความน่ากลัวมันลดน้อยลงไปเยอะ มีเทคโนโลยีมากมายที่คอยช่วยชีวิตของแม่และลูก  ดังนั้นไม่ต้องกลัวกันไปเกินเหตุนะคะ   ตอนแม่กุ๊กกลัวก็คิดในแง่บวกว่า เค้าคลอดกันทั้งโลก สมัยนี้ตายเพราะคลอดแทบไม่มีเลย ชิลล์ ๆ เป็นคุณแม่ต้องอารมณ์ดีและคิดบวกนะคร๊าาา
         แต่อย่านิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะถึงแม้จะมีคุณหมอและเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ แต่เราก็ไปหาคุณหมอแค่เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น อีก 29 -30 วัน ที่เหลือก็คุณแม่และคนใกล้ชิดนะคะที่จะต้องดูแลเจ้าตัวน้อยๆ และตัวคุณแม่เองให้เเข็งเเรงนะจ๊ะ  จะได้พร้อมสำหรับการคลอด
         ไปหาบทความดี ๆ มาฝากจ้า 

          ก่อนอื่นต้องเริ่มตั้งต้นที่ความเข้าใจที่ว่า การตั้งครรภ์และการคลอดเป็นความเสี่ยงของมารดาและบุตร ทุกการตั้งครรภ์แบ่งเป็นครรภ์เสี่ยงต่ำและครรภ์เสี่ยงสูง โดยครรภ์เสี่ยงต่ำสามารถเปลี่ยนเป็นครรภ์เสี่ยงสูงได้ตลอดเวลา การตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ร่างกายสตรีมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งในด้านร่างกายและอารมณ์


ระยะแรกเมื่อมีการตั้งครรภ์ความเสี่ยงที่มี ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีตัวเด็กหรือท้องลม การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์แฝด อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด ปวดหน่วงท้อง ปวดบริเวณต้นขา ขาหนีบ และหลัง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ง่วงนอน คล้ายคนขี้เกียจ เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญ ในกรณีนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ คุณแม่ต้องตะหนักรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ การจดจำประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อจะทำให้การวินิจฉัยอายุของการตั้งครรภ์สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำจะทำให้การวางแผนการดูแลครรภ์ได้อย่างเหมาะสม เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ การเอาใจใส่และแจ้งให้ครอบครัวทราบเพื่อร่วมระมัดระวังในการดูแลครรภ์ ใส่ใจในเรื่องอาหารการกิน การใช้ยาระหว่างการตั้งครรภ์ น้ำหนักลด อาการผิดปกติที่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ ได้แก่ ปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดออกจากช่องคลอด มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งข้อมูลการดูแลตนเองระหว่างการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่สามารถสอบถามแพทย์ที่ดูแลครรภ์เมื่อเริ่มฝากครรภ์หรือจะศึกษาความรู้ด้วยตนเองก่อนโดยเมื่อสงสัยในข้อมูลใดแล้วจึงสอบถามแพทย์อีกครั้งก็ได้ โดยทั่วไปแนะนำให้คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ทันที เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อกระบวนการในการร่วมกันดูแลรักษาจะได้เริ่มตั้งแต่ต้น เพราะหากแพทย์วิเคราะห์พบว่ามีครรภ์เสี่ยงสูง จะได้แนะนำรายละเอียดการดูแลต่อไป ความเสี่ยงที่ในระยะนี้ที่พบ การตั้งครรภ์ที่ไม่สมบูรณ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวเด็ก การแท้ง หากแพทย์สงสัยว่าจะมีความเสี่ยงเหล่านี้ จะอธิบายแนวทางการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ในสมัยก่อน ภาวะเหล่านี้มักจะวินิจฉัยได้ล่าช้า มารดามักมาด้วยอาการของตกเลือดหรือสงสัยการแท้งก่อน คือ ปวดท้องน้อยมาก มีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีเลือดออกมาก จะทำให้มารดาตกเลือดเสียชีวิตได้  ในกรณีครรภ์แฝด คุณแม่ส่วนใหญ่มักชอบที่ได้ตั้งครรภ์แฝด แต่ในความเป็นจริงเป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่ในระยะแรกอาจพบ การแท้ง การเสียชีวิตของทารกในครรภ์คนใดคนหนึ่ง ภาวะแฝดติดกัน ซึ่งครรภ์แฝดเป็นภาวะที่แพทย์ผู้ดูแลต้องวิตกกังวลมากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด


เมื่อการตั้งครรภ์มีอายุครรภ์มากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้แก่ การเจริญเติบโตช้าของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การมีเลือดออกจากช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องอาศัยการเอาใจใส่ของคุณแม่และครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ของการดูแลครรภ์อยู่ที่บ้าน  การที่ผลการตั้งครรภ์จะดีจึงต้องได้รับความร่วมมือจากคุณแม่และครอบครัวในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สงสัยว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนและรีบมาปรึกษาแพทย์ โรงพยาบาลบางแห่ง เช่น ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีสายด่วนคุณแม่ให้สามารถปรึกษาเรื่องครรภ์และการคลอดตลอด24 ชั่วโมงเพื่อเป็นการเพิ่มชั่วโมงในการให้คำปรึกษาและดูแลครรภ์ สำหรับการตรวจครรภ์ตามระยะนัดของการฝากครรภ์นั้น เป็นเพียงการคัดกรองความผิดปกติที่ตรวจพบขณะมาฝากครรภ์เท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณแม่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลายที่ยังไม่นับรวมความเสี่ยงของการคลอดที่สูงกว่าความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ เพราะหากมีการคลอดที่ผิดปกติ เนิ่นนาน ติดขัด ตกเลือดหลังคลอด มดลูกแตก ก็เป็นเหตุให้เกิดมารดาเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกันกับทารกอาจบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน


การตั้งครรภ์และการคลอดของคุณแม่จึงเปรียบเสมือนการออกสู่สนามรบที่มีความเสี่ยง การเกิดของลูกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและมารดาปลอดภัยเป็นความหวังของทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแล หากลูกสักคนคิดจะฉลองวันเกิด ควรนึกถึงบุญคุณและความเสี่ยงของคุณแม่เสมอ เพราะวันเกิดของลูกนั้นเป็นวันเสี่ยงตายของคุณแม่

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More