วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

การดูแลตัวเองหลังคลอด

การดูแลตัวเองหลังคลอด
                    หลังจากที่เราแม่ ๆ ดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อยในทางที่สมบูรณ์มากกก มา 9 เดือน พอหลังคลอด เราแม่ ๆ ก็คงรู้สึกกันแล้วว่า ร่างกายชั้นเป็นอะไรไปเนี่ยมันบวมพองป่องไปหมด ใครที่ดูแลตัวเองด้านอาหารการกินมาโดยตลอด จะเถียงแม่กุ๊กไม่ได้แหละคร่า ว่าหน้าท้อง นั่นคือปัญหา  นอกจากนี้เราคนไทยเรายังสนใจเรื่องการอยู่ไฟเพื่อสุขภาพ ตัวแม่กุ๊กอยู่อิตาลี่ เรื่องอยู่ไฟนี่ไปบอกใครเค้าก็หัวเราะ แต่เรื่องหน้าท้องแทบจับเข่าคุยกัน คุณแม่ที่นี่ส่วนใหญ่จะใช้เข็มขัดรัดหน้าท้อง คล้าย ๆ เสตย์บ้านเราน่ะคะ ใส่ยาวเลย  แล้วก็ออกกำลังกายกันอย่างสม่ำเสมอ  เลือกทานอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นมลูก เพื่อน ๆ คุณแม่ที่ไปเข้าคอร์สคุณแม่ด้วยกัน แค่สองสามเดือนให้หลัง ก็กลับมาเช๊งกะเด๊ะกันหมดแล้ว  ส่วนแม่กุ๊กนับไม่ได้ เพราะดั๊นท้องต่อเลย ก็เลยมาลดเอาหลังท้องสอง แต่จตะบอกว่าความคืบหน้าค่อนข้างน้อย น้ำหนักน่ะลด แต่หน้าท้องนี่สิคะ ยังไม่เท่าไหร่เลย ไม่อยากบอกว่าไม่มีเวลา เพราะแม่กุ๊กคิดว่าตัวเองไม่มีความตั้งใจพอมากกว่า ส่วนเรื่องอยู่ไฟนี่ลงทุนสั่งทางไกลจากเมืองไทยเลยนะคะ ที่นี่เลยค่ะ http://www.kumsamunpai.com/  ของเค้าโอเคมาก สามารถทำได้ด้วยตัวเองแบบไม่ยากนักน่ะค่ะ แม่กุ๊กซื้อมาสำหรับ 1 เดือนแต่ทำได้แค่อาทิตย์เดียวค่ะ เพราะคุณสามีโดนเรียกตัวกลับไปทำงานด่วน ดังนั้นจึงไม่มีใครคอยดูลูกให้ ตอนกลางคืนแม่กุ๊กก็เหนื่อยซะจนไม่มีแรงจะพทำแล้วล่ะค่ะ ไล่มาซะยาว ไปแอบหาบทความดี ๆ มาให้คุณแม่ ๆ ทั้งหลายอ่านดีกว่า


                   การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังการคลอดลูก แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับวิธีการคลอดลูกอีกด้วย คือคลอดทางช่องคลอด หรือ ผ่าตัดคลอดลูก และยังมีปัจจัยส่วนบุคคลอื่นๆ อีกที่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการดังนี้

  • มีน้ำคาวปลาสีแดงสด และค่อยๆ จางลงในปลายสัปดาห์และจะหมดไปภายใน 3 สัปดาห์ หรืออาจจะมีกระปริบกระปรอยเล็กน้อยจนครบ 6 สัปดาห์ หากน้ำคาวปลายังเป็นสีแดงสดนานเกิน 1 สัปดาห์ควรให้แพทย์ตรวจอีกครั้ง
  • อาจมีการปวดมดลูกเป็นพักๆ เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อคืนสู่สภาพเดิมของมดลูก (เข้าอู่) จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อให้นมลูก เนื่องจากเมื่อลูกดูดนมจะมีการสร้างสารออกซิโทซินเพิ่มมากขึ้นในเลือดของแม่ หากปวดมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาแก้ปวดได้ อาการนี้จะหมดไปเองภายใน 4-7 วันหลังคลอด หากมีการปวดนานเกิน 7 วันควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในมดลูกทำให้โพรงมดลูกอักเสบได้
  • ความเหนื่อยล้า และอ่อนเพลีย
  • ปวดบริเวณเย็บฝีเย็บ ในช่วงพักฟื้น พยาบาลจะดูแผลฝีเย็บทุกวัน ให้คำแนะนำในการทำความสะอาดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พยาบาลจะแนะนำให้ใส่ผ้าอนามัย และเปลี่ยนทุก 4-6 ชั่วโมง ล้างทุกครั้งหลังปัสสาวะ อุจจาระ โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อที่แพทย์แนะนำ (แต่โดยปกติจะไม่ใช้ยาฆ่าเชื้อ) เช็ดให้แห้งโดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ใช้มือจับฝีเย็บจนกว่าจะตัดไหม
  • เจ็บแผลหน้าท้อง (กรณีใช้วิธีผ่าตัดคลอดลูก)
  • เคลื่อนไหวร่างกายยังไม่สะดวก อาจจะรู้สึกลำบากและไม่คล่องตัว
  • ถ่ายปัสสาวะไม่สะดวก โดยเฉพาะวันแรก อาจจะท้องผูก
  • รู้สึกปวดเมื่อยทั้งตัว
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะ 2 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากร่างกายจะขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย อาการนี้จะอยู่นานเป็นสัปดาห์เพื่อปรับร่างกายเข้าสู่สภาพปกติ ดังนั้นควรจะอาบน้ำบ่อยขึ้นเพื่อให้ร่างกายสดชื่น บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ ได้ แต่ถ้าไข้สูงเกิน 38 องศาควรปรึกษาแพทย์
  • เต้านมตึง อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลกรณีที่ลูกดูดนมแรงเกินไป
  • อารมณ์แปรปรวน เดี่ยวเศร้าซึม เดี่ยวตื่นเต้น อ่อนไหวง่าย
  • มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือบางรายอาจจะลดลง

อาการหลังคลอดที่ควรระวัง และต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน หากมีอาการเหล่านี้

  • มีเลือดออกมาทางช่องคลอดจนชุ่มผ้าอนามัย 1 ผืนภายใน 1 ชั่วโมง ควรรีบไปโรงพยาบาล และใช้น้ำแข็งวางบนหน้าท้องหรือมดลูกเพื่อให้เลือดออกมาน้อยลง
  • น้ำคาวปลามีสีแดงสดนานเกิน 4 วัน
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งปกติแล้วกลิ่นจะเหมือนเลือดประจำเดือน
  • มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ออกทางช่องคลอด ซึ่งปกติแล้วอาจจะมีเพียงลิ่มเลือดเล็กๆ ออกมาปนกับน้ำคาวปลา
  • น้ำคาวปลาไม่ไหล โดยเฉพาะใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดรำคาญในระยะ 1 สัปดาห์หลังคลอด
  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาเกิน 24 ชั่วโมงโดยเฉพาะหลังคลอดวันแรก
  • เจ็บหน้าอก ซึ่งอาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดเล็กๆ ในปอด
  • การปวดบวมของขาและน่อง อาจเกิดจากมีหลอดเลือดอุดตันบริเวณนั้น
  • อาการปวด บวม ของเต้านมบางส่วน แม้ว่าอาการตึงคัดจะหายไปแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนมบางส่วนทำให้เกิดการอักเสบของเต้านม
  • มีอาการบวมแดงของแผลผ่าตัด เป็นหนอง มีน้ำเหลืองไหลซึม
  • ปัสสาวะแล้วแสบหรือรู้สึกขัด ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อยลง และสีเข้มจัด
  • มีอาการซึมเศร้าเกิน 2-3 วัน และมีอารมณ์โกรธร่วมด้วย
เครดิตโดย 
http://www.babytrick.com/new-born-baby-tip/take-care-your-self-after-birth.html

การอยู่ไฟ


         ตั้งแต่ยุคโบราณนานมา ผู้เฒ่าผู้แก่มักให้หญิงที่เพิ่งคลอดอยู่ไฟและสืบทอดต่อกันมา ทุกวันนี้การอยู่ไฟหลังคลอดกลับมาเป็นที่นิยมของคุณแม่หลังคลอดอีกครั้งหนึ่ง เพราะช่วยให้คุณแม่หลังคลอดมีทรวดทรงองค์เอว ผิวพรรณหน้าตาสดใสเหมือนก่อนตั้งครรภ์

โรงพญาบาลกล้วยน้ำไท 1 เปิดประเด็น ม่ามี๊ ก็ผิวใสและเซ็กซี่ น็อตตี้ ได้ด้วยการอยู่ไฟ ให้กระจ่างชัดไปเลยว่าอยู่ไฟมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร โดยน.พ.ก้องศาสดิ์ ดีนิรันดร์ สูติ-นรีแพทย์ กล่าวว่าน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 ก.ก. ผิวคล้ำขึ้น มีสีเข้มคาดที่กลางลำตัว หน้าท้องแตกลายเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนสะสม หลังคลอดแล้วน้ำหนักจะลดลงทันทีประมาณ 5.5 ก.ก. แต่ยังคงมีน้ำหนักตัวหลงเหลืออยู่ จากนั้น ประมาณ 3-4 สัปดาห์ มดลูกจะกลับมาเหมือนภาวะปกติร้อยละ 70 หรือเรียกกันว่า มดลูกเข้าอู่

แม้จะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันแต่ก็มีความรู้เรื่องการอยู่ไฟด้วย คุณหมอบอกว่าการประคบทำให้คลายเมื่อย คลายเครียดเพราะขณะอยู่ไฟไม่ได้เลี้ยงลูก อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนเลือดสูบฉีดดีขึ้นซึ่งเกิดจากความร้อนจากการอบตัวในกระโจมเหมือนอบเซาน่าในปัจจุบัน


ส่วนการขัดผิวเป็นการลอกเซลล์ผิวที่คล้ำออกแล้วเซลล์ผิวที่ใสและสะอาดที่สุดซึ่งอยู่ชั้นล่างก็จะโตเร็วขึ้นเมื่อมีการสูบฉีดเลือดที่ดี อีกทั้งช่วยให้น้ำคาวปลาออกหมดเร็ว การปัสสาวะและอุจจาระก็พลอยดีขึ้นไปด้วย


อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟมีข้อเสียเหมือนกัน

หากคลอดปกติทางช่องคลอดต้องรอให้แผลฝีเย็บละลายเสียก่อนซึ่งมักจะใช้เวลา 7-10 วัน แต่กรณีคลอดแบบผ่าตัดต้องรอให้แผลหายดีเสียก่อนสักประมาณ 45 วัน และคุณแม่ยังต้องคำนึงถึงโรคประจำตัวด้วย เช่น บางคนเป็นโรคเบาหวาน หากมีแผลที่เท้าและชาเท้าขณะนวดหรืออบไฟก็อาจไม่รู้ตัวและทำให้แผลลามขึ้นได้ ส่วนคนเป็นความดันก็ต้องระวังเพราะขณะนวดความดันจะเพิ่มขึ้น และคนที่เป็นโรคหัวใจก็ควรระวังด้วย
มาคุยกับแพทย์แผนไทยประยุกต์กันบ้าง น.ส.กมลมาสย์ หลวงแสน กล่าวถึงขั้นตอนการอยู่ไฟว่า

• ขั้นแรกคุณแม่ต้องดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพร แล้วอาบน้ำสมุนไพร สำหรับสมุนไพรที่ใช้อาบและอบตัวนั้น ประกอบด้วย ไพล ขมิ้นชันที่มีสรรพคุณแก้ฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย ตะไคร้และมะกรูดช่วยระบบทางเดินหายใจและดับกลิ่นน้ำคาวปลา ผักบุ้งแดงช่วยบำรุงสายตา ใบมะขามและใบส้มป่อยช่วยบำรุงน้ำเหลือง นอกจากนั้นก็มีการบูร พิมเสน เกลือ ว่านน้ำ

• จากนั้นนวดประคบโดยใช้ลูกประคบซึ่งใช้สมุนไพรสดเหมือนกับสมุนไพรที่ใช้อาบน้ำ แล้วมาทับหม้อเกลือซึ่งมีว่านชักมดลูกและว่านนางคำช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นและขับน้ำคาวปลา ประกอบกับใช้หม้ออินทนนท์ซึ่งใส่เกลือตัวผู้เม็ดใหญ่ๆ ลงไปและอบในไมโครเวฟให้ร้อนแล้วใช้ใบพลับพลึงวางซ้อนกันก่อนวางหม้อบนหน้าท้องเป็นการขับน้ำคาวปลาและลดการเกร็งของหน้าท้อง

• หลังจากนั้น เป็นการนวดน้ำมัน ขัดผิวและอยู่กระโจมโดยเข้าไปอบตัวในกระโจม 10 นาที ออกมาพัก และเข้าไปใหม่ รวม 3 ครั้ง อาจทำทุกวันก็ได้เรื่อยไปจนกระทั่ง 1 เดือน


นอกจากนี้ ยังมีที่คาดไฟชุดหรือคาดไฟหลวง ประกอบด้วยกล่องอะลูมิเนียม แท่งยาซึ่งเป็นแท่งถ่านและผ้าคาดเอว จุดไฟครั้งหนึ่งก็จะร้อนนานประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยให้วางผ้าขนหนูรอบเอวเสียก่อนแล้วค่อยใส่ผ้าคาดเอวซึ่งจะทำวันละ 2-3 ครั้งก็ได้ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานบ้านหรือไม่ค่อยมีเวลา ไม่สะดวกในการอยู่กระโจมหรือประคบ


เหตุใดราคาคอร์สอยู่ไฟถึงแพงมาก บางคอร์สเกือบหมื่น บางคอร์สหลายหมื่น พยาบาลชวนพิศ ยงยิ่งยืน ไขข้อสงสัยว่าเป็นเพราะราคาสมุนไพรที่แพงตามฤดูกาลและหายาก และยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอด 5 ชั่วโมงของการอยู่ไฟต่อหนึ่งวัน อีกทั้งน้ำมันนวดราคาแพง


ส่วนคุณแม่ลูก 4 ที่มีประสบการณ์อยู่ไฟอย่างโชกโชน นางอัจรียา อีดี้ ยืนยันว่าการอยู่ไฟดีต่อสุขภาพคุณแม่หลังคลอด ช่วยให้คลายปวดเมื่อยและไม่เคยมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวเลย พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับเพื่อช่วยให้คุณแม่กลับมาสดใสในเวลาเร็ววันว่ามีหลัก แขม่ว ขมิบ และเขย่ง โดยยกแขนขึ้นและลงพร้อมกับขมิบและเขย่งไปพร้อมกัน


ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างวิถีไทยและความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่ช่วยให้คุณแม่ดูดีขึ้นได้อย่างใจในเวลาไม่นาน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More